กระทรวงการอุดมศึกษา หนุนช่วยผู้ประกอบการดันสินค้าชุมชน U2T for BCG เพิ่มมูลค่า

262
0
Share:
กระทรวงการอุดมศึกษา หนุนช่วยผู้ประกอบการดัน สินค้าชุมชน U2T for BCG เพิ่มมูลค่า

ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เจ้าของฉายา “มิสเตอร์ U2T” ลงพื้นที่ลุย “กิจกรรมโครงการส่งเสริมการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์และแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้า U2T for BCG” ที่จังหวัดศรีสะเกษ และสุรินทร์ต่อเนื่อง พร้อมกล่าวว่า “อว.พร้อมช่วยเหลือและสนับสนุนชุมชนทุกรูปแบบ โดยเอาองค์ความรู้ต่างๆ หน่วยงานต่างๆ ทั้งคลินิกเทคโนโลยี, Science Park และศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ(UBI) ที่มีอยู่ มาช่วยพัฒนาสินค้าให้ชุมชนตั้งแต่จิ้งหรีดจนถึงจานดาวเทียม จิ้งหรีดก็พัฒนาทำเป็นโปรตีนผง ซึ่งมีโปรตีนสูงมาก และสามารถทำราคาขายได้ดีกว่า ส่วนดาวเทียม ก็มีสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ดูแลเรื่องดาวเทียม ที่ดูแลสภาพอากาศให้สินค้าทางการเกษตรอีกที”

เรื่องการผลักดันสินค้า U2T ไปจนถึงการส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศนั้น อว.ก็พร้อมช่วยซัพพอร์ตเต็มที่ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของชุมชนด้วยว่า มีความต้องการถึงขั้นไหน แค่ทำตลาดออนไลน์ แค่ขอ อย. หรือแค่ต้องการเอาสินค้าเข้าไปขายในห้างสรรพสินค้า หรือไปไกลถึงขั้นส่งออกตลาดต่างประเทศ แต่ ณ วันนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จเกินคาดแล้ว ในเรื่องของการช่วยเหลือ ส่งเสริมและสนับสนุนในเรื่องของการทำมาร์เก็ตติ้งออนไลน์ เพราะสินค้าผลิตไม่ทันขาย

“ปีงบประมาณ 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ยังคงมุ่งเน้นเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการด้าน BCG หรือ Bio Circular Green Economy ในพื้นที่ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อให้ผลิตภัณฑ์และบริการออกสู่ตลาดอย่างเป็นระบบ”

จังหวัดศรีสะเกษและสุรินทร์ มีจุดได้เปรียบในหลายๆ เรื่อง มหาวิทยาลัยและชุมชนจึงนำทรัพยากรต่างๆ ในแต่ละชุมชน แต่ละตำบล แต่ละอำเภอมาเพิ่มมูลค่าเป็นสินค้าใหม่ๆ รวมถึงนำทรัพยากรที่เป็นของเสียมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างเงิน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนมากขึ้น

นายธีรโชติ พลชัย ตัวแทนกลุ่มทำกระเป๋าถือสตรีจากไม้ไผ่ลายเข่งปลาทู และเสื่อกก ต.สำโรงพลัน อ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ เล่าว่า ต.สำโรงพลัน อ.ไพรบึง มีอาชีพหลักทำเครื่องจักสานขาย เช่น เข่งปลาทู และทอเสื่อกก โดยเข่งปลาทู ทำรายได้เข่งละ 7 บาท ขณะที่เสื่อกก ทำรายได้ผืนละ 250-300 บาท พอทางมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ และอว.เข้าไปช่วยเพิ่มองค์ความรู้และบูรณาการสิ่งที่มีอยู่แล้ว โดยนำผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานต่างๆ มาแปรรูปทำเป็นกระเป๋าถือสตรี สามารถช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าได้หลายเท่าตัว โดยกระเป๋าถือสามารถทำราคาขายได้สูงถึงใบละ 2,500 บาท พร้อมช่วยผลักดันให้สินค้าออกสู่ตลาดอย่างเป็นระบบทั้ง online/offline

ด้านนางสาวสุพรรณี ทรงทัน ตัวแทนกลุ่มแม่บ้านสินค้าแปรรูปจากแหล่งผลิตอินทรีย์ “ปลาส้ม พ่อขุน” ต.กระหวัน อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ เล่าว่า การมีโครงการ U2T for BCG ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าจากเดิมที่ปลาสดทั้งปลานิล ปลาตะเพียนขายได้กิโลกรัมละ 65-70 บาท พอแปรรูปเป็นปลาส้มสามารถขายได้ถึงกิโลกรัมละ 120 บาท เป็นต้น

ในปีนี้ อว.จะเดินหน้าโครงการส่งเสริมการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์และแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้า U2T for BCG ให้เข้าถึงผู้บริโภคต่อ เพื่อเป้าหมายสร้างผลิตภัณฑ์และผู้ประกอบการที่มีคุณภาพต่อไป