กกร.ปรับ GDP ปีนี้เป็น -0.5 ถึง 1% จาก -1.5 ถึง 0% แนะรัฐตั้งเป้าดันเศรษฐกิจไทยโต 6-8%

370
0
Share:

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.วันนี้ได้เห็นชอบในการปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 64 เป็น -0.5 ถึง 1.0% ดีขึ้นจากเดิมที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะติดลบราว -1.5 ถึงไม่เติบโต หรือ ขยายตัวเป็น 0% เนื่องจากมองว่าสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเริ่มดีขึ้น และรัฐบาลคาดว่าจะจัดหาวัคซีนได้เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้

พร้อมกันนี้ ยังได้ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 12-14% จากเดิม 10-12% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด แม้บางประเทศกลับมาบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์บ้าง แต่โดยส่วนใหญ่สามารถอยู่กับโควิด-19 ได้ กิจกรรมการผลิตฟื้นตัว สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) ที่อยู่ในเกณฑ์ขยายตัวในระดับสูง ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อภาคการส่งออกของไทย

สำหรับแผนการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 และการฉีดที่มีประสิทธิภาพและไม่สับสน สามารถผลักดันให้ไทยตั้งเป้าหมายการฟื้นตัวเศรษฐกิจในปี 65 ที่ท้าทายขึ้น ภาครัฐประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะสามารถเติบโตได้ในช่วง 3-5% ซึ่งมองว่าเป็นการตั้งเป้าหมายในอัตราต่ำเกินไป และทำให้ระดับกิจกรรมเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 62 ส่งผลให้ธุรกิจจำนวนมากยังบอบช้ำ

ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจฟื้นตัวกลับมายืนได้ด้วยตัวเองโดยเร็ว ภาครัฐควรกำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ท้าทายขึ้นเป็น 6-8% ซึ่งเป็นไปได้ในภาวะที่คนไทยกว่า 50% ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว โดยรัฐบาลจำเป็นต้องใช้กระสุนทางการคลังด้วยการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจาก 60% เป็น 70-80% ซึ่งจะทำให้มีเงินเข้ามาเพิ่มเติมอีกราว 7 แสน-1.5 ล้านล้านบาท โดยเน้นสนับสนุนการจ้างงาน และใช้ในมาตรการที่มี Multiplier กับเศรษฐกิจสูง อย่างมาตรการที่รัฐช่วยออกค่าใช้จ่าย (co-payment) หรือมาตรการค้ำประกันสินเชื่อที่สูงขึ้นและเทียบเคียงกับประเทศอื่น เป็นต้น

ซึ่งที่ประชุม กกร.เห็นควรแสนอแนะให้รัฐบาลกำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในแบบที่ท้าทาย โดยตั้งเป้าผลักดันให้ GDP ปี 65 ขยายตัวให้ได้ถึง 6-8% เพราะการตั้งเป้าหมายการเติบโตได้เพียง 3-5% มองว่าอาจอยู่ในระดับต่ำเกินไป และต่ำกว่าศักยภาพของไทยที่เคยมีมาในช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด พร้อมกับสนับสนุนให้รัฐบาลปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ต่อจีดีพีในปัจจุบัน เป็น 70-80% ต่อจีดีพี ซึ่งจะช่วยทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 7 แสนล้านบาท-1.5 ล้านล้านบาท

สำหรับการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ให้ฟื้นตัวสามารถประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตินั้น ขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟู โดยนำข้อเสนอแนะของภาคเอกชนมาใช้ปรับเกณฑ์ในรอบนี้ด้วย เพื่อให้เพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อระยะถัดวงเงิน 150,000 ล้านบาทมากที่สุด โดยจะขยายวงเงินสินเชื่อลูกหนี้รายใหม่จากไม่เกิน 20 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนลูกหนี้เดิมที่มีวงเงินเดิม 30% ไม่ถึง 50 ล้านบาท สามารถขอได้สูงสุด 50 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องให้เพียงพอมากขึ้นต่อสถานการณ์ โควิด-19 ที่ยาวกว่าที่คาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ได้ปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการค้ำประกันของบริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) รวมถึงการปรับลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันรวมสำหรับลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง โดยลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันในปีที่ 1-2 เพื่อลดภาระในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว โดยคาดว่าจะเริ่มได้ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย.นี้