กฤษฎีกาคาด พ.ร.บ.กู้เงิน สำหรับแจกดิจิทัลส่อล่าช้า ชี้ยังส่งเรื่องไม่ถึงมือ

146
0
Share:
กฤษฎีกา คาด พ.ร.บ. กู้เงิน สำหรับแจก ดิจิทัล ส่อล่าช้า ชี้ยังส่งเรื่องไม่ถึงมือ

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยถึงการจัดทำกฎหมายกู้เงิน พ.ร.บ. 5 แสนล้านบาทเพื่อใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต แจกเงิน 10,000 บาท ให้กับกลุ่มเป้าหมาย 50 ล้านคน ว่า ขณะนี้กฤษฎีกายังไม่ได้รับเอกสารจากกระทรวงการคลังในฐานะฝ่ายเลขานุการ ของคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งตนได้สอบถามไปยังนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังแล้วเกี่ยวกับกับการดำเนินการ โดยกระทรวงการคลังบอกว่าอยู่ในระหว่างรวบรวมประเด็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย ที่ต้องการถามคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อส่งมาตามขั้นตอน

ปัจจุบันขั้นตอนของการออกกฎหมายกู้เงินของรัฐบาลนั้นยังไม่ได้เรียกว่าเป็นการจัดทำร่าง พ.ร.บ.เนื่องจากมติของที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่นั้นมอบหมายให้กฤษฎีกาไปดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเมื่อกฤษฎีกาดูความเห็นข้อกฎหมายและตอบคำถามจากรัฐบาลที่ส่งมาเกี่ยวกับการออกกฎหมายครบถ้วนชัดเจนแล้วจะนำเข้าสู่ที่ประชุม คณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่อีกครั้งที่ประชุมจึงจะมีมติว่าสามารถเดินหน้าในการทำข้อกฎหมายเพื่อออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ได้หรือไม่

“อยากให้เข้าใจว่าตอนนี้ยังไม่ได้มีการเสนอมาเป็นร่างกฎหมาย แต่จะส่งเป็นคำถามมาก่อนว่าถ้าครบเงื่อนไขทำได้หรือเปล่าเท่านั้น และตอนนี้ก็ยังรออยู่ และก็ได้รับการยืนยันจากรมช.จุลพันธ์ว่า กำลังดูอยู่ และคงต้องสอบถามไปที่กระทรวงการคลัง”

ส่วนข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่กฤษฎีกาจะไปดูได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2560 ที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินแผ่นดิน พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 กฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ 2548 กฎหมายเงินคงคลัง เป็นต้น รวมทั้งต้องดูอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีด้วย โดยเรื่องนี้ต้องดูตามข้อกฎหมายอย่างรอบคอบว่าทำได้หรือไม่ หากทำไม่ได้ก็บอกทำไม่ได้ เรื่องนี้ได้มีความซับซ้อนอะไร

สำหรับคำถามที่ว่ารัฐบาลจะขอคำแนะนำจากกฤษฎีกาว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถออกกฎหมายในเรื่องนี้ได้ เลขาธิการฯกฤษฎีกาบอกว่าเรื่องนี้ตนเองไม่ทราบ เพราะว่าหน้าที่ในการหาวิธีการในการบริหารและออกนโยบายนั้นเป็นเรื่องของรัฐบาล รวมทั้งเรื่องของการวินิจฉัยว่าเป็นเรื่องวิกฤติหรือไม่นั้นก็คงไม่สามารถมาถามจากกฤษฎีกาได้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล และครม.ที่ต้องหาข้อมูลมาอธิบายในส่วนนี้