กลุ่มสมาคมเกษตรค้านแบน 3 สารเคมี

987
0
Share:

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับ 3 สมาคมบริษัทผู้ประกอบการสารเคมี ว่า การจะเลื่อน หรือไม่เลื่อน การแบนสารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซตนั้น ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่เป็นประธาน และไม่ว่าจะดำเนินการในทิศทางใด ก็ต้องมีคำตอบให้กับสังคมด้วยว่าหลังจากนั้นจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป
.
สำหรับการเปิดรับฟังข้อเสนอแนะของเอกชนในครั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รวบรวมข้อมูลและนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการฯต่อไป และจะมีการผลักดันให้ส่งออกสารเคมีไปยังประเทศต้นทาง เช่น สิงคโปร์ และเมียนมา ล็อตแรกประมาณ 700 ตัน จากจำนวนสารทั้งหมด จำนวน 38,855 หมื่นตัน โดยขอให้เอกชนที่จะส่งออก 3 สารดังกล่าว มาดำเนินการภายใน 3 วัน และต้องแจ้งจำนวนสต๊อกเข้ามา
.
ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่มีการนำเข้าสารตัวใหม่ และไม่สนับสนุนให้เผาทำลายสาร ควรเน้นการส่งออกมากกว่า เพราะว่าการทำลายสาร ต้องใช้งบประมาณกว่า 2 หมื่นบาทต่อตัน หากเกษตรกรและผู้ประกอบการต้องการกำจัดสารด้วยวิธีดังกล่าวต้องออกค่าใช้จ่ายเอง
.
ที่สำคัญในวันนี้จะมีการประชุมสารวัตรเกษตรทั่วประเทศ ที่กรมวิชาการเกษตร เพื่อรับทราบแนวทางในการลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับเกษตรกรและประชาชนที่มีสารทั้ง 3 ตัวในครอบครองว่าต้องไปส่งคืนบริษัทหรือร้านค้าหรือร้านค้าอย่างไร เนื่องจากตามมติในวันที่ 1 ธ.ค. 2562 ผู้มีไว้ครอบครองจะผิดกฎหมายและได้รับโทษหนัก เบื้องต้นจำคุก 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาท ส่วนกรณีประกาศราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 18 พ.ย. 2562 ของกรมวิชาการเกษตรนั้น เป็นนโยบายและอำนาจของกรมฯ ยอมรับว่าขั้นตอนอาจมีถูกผิดบ้างเป็นธรรมดา แต่ทั้งหมดยังต้องผ่านบอร์ดคณะกรรมการวัตถุอันตรายก่อน

.
ด้านนายสกล มงคลธรรมมากุล ประธานที่ปรึกษาสมาคมอารักขาพืช กล่าวว่า สมาคมฯ ไม่ได้เห็นด้วยกับมติการแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด และตามที่ได้มีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายประเภท 4 สิ้นสุดเมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา จากการออกความเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ มีผู้ไม่เห็นด้วยกับการแบน 58% เห็นด้วย 42% และเมื่อรวบรวมการแสดงความคิดเห็นผ่านแบบสอบถามของเกษตรกรที่ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ผู้ไม่เห็นด้วยกับการแบนคิดเป็น 70%
.
แต่เมื่อมีมติไห้แบนสารดังกล่าว สารทั้ง 3 ชนิดจะกลายเป็นสารที่ผิดฎหมายทันที ดังนั้น รัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการชดเชยความเสียหายทั้งหมด ค่าใช้จ่ายในการเก็บส่งรัฐ ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา และค่าใช้จ่ายในการทำลาย จึงไม่ควรผลักภาระนี้ให้เอกชนและเกษตรกรรับผิดชอบเอง
.
โดย 3 สมาคมขอยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการแบนสารเคมี 3 สาร ซึ่งการรับฟังความเห็นร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายประเภท 4 ยังมีผู้ไม่เห็นด้วยกับการแบน และมาตรการแบนยังไม่มีประกาศชี้แจงเพื่อให้เตรียมการ