กสิกรไทยมองกรอบเงินบาทวีคนี้ 36.70-37.30 บาท/ดอลลาร์ หลังทำสถิติอ่อนค่าในรอบกว่า 6 เดือนครึ่ง

74
0
Share:
กสิกรไทย มองกรอบ เงินบาท วีคนี้ 36.70-37.30 บาท/ดอลลาร์ หลังทำสถิติอ่อนค่าในรอบกว่า 6 เดือนครึ่ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาททำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 6 เดือนครึ่งที่ 37.17 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนฟื้นตัวแข็งค่ากลับมาบางส่วนปลายสัปดาห์ตามทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก โดยเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงแรกตามการร่วงลงของราคาทองคำในตลาดโลก ตลอดจนการอ่อนค่าของเงินเยนและเงินหยวน ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากการคาดการณ์ว่า เฟดอาจไม่รีบปรับลดดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ทรงตัวที่ระดับสูงต่อไปอีกระยะ อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ หลังจากที่ข้อมูลเบื้องต้นของดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและบริการของสหรัฐฯ ปรับตัวลงมาที่ 50.9 ในเดือน เม.ย. (ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของปีนี้) ประกอบกับเงินบาทมีแรงหนุนเพิ่มเติมในช่วงท้ายสัปดาห์จากการดีดตัวกลับขึ้นอีกครั้งของราคาทองคำในตลาดโลก

ทั้งนี้ สกุลเงินในฝั่งเอเชียผันผวนในกรอบอ่อนค่าในช่วงปลายสัปดาห์ นำโดย เงินเยน ซึ่งทำสถิติอ่อนค่าสุดนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2533 หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่นคงดอกเบี้ยนโยบายและการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นไว้ตามเดิม

โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 26 เม.ย. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 36.96 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 6 เดือนครึ่งที่ 37.17 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระหว่างสัปดาห์ เทียบกับระดับ 36.86 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (19 เม.ย. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 22–26 เม.ย. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 3,121 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 2,974 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตรไทย 993 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 1,981 ล้านบาท)

สัปดาห์นี้ ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.70-37.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุม FOMC (30 เม.ย. – 1 พ.ค.) ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ตัวเลขการส่งออกไทยเดือน มี.ค. การเคลื่อนไหวของค่าเงินเอเชียและราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิต/ภาคบริการ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตรการว่างงานเดือน เม.ย. ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงานเดือน มี.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือน เม.ย. ของจีน ญี่ปุ่น อังกฤษ รวมถึงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 อัตราเงินเฟ้อเดือน เม.ย. ของยูโรโซน