กสิกรไทย ชี้แรงใช้จ่ายซื้อสินค้าคนไทยใน 3 เดือนหน้าจ่อห่อเหี่ยวต่ำสุดในรอบ 7 เดือน

243
0
Share:

ศูนย์วิจัย กสิกรไทย เปิดเผยรายงานดัชนีค่าใช้จ่ายและราคาสินค้า หรือ ดัชนี KR-ECI ประจำเดือนมี.. 67 พบว่า อยู่ที่ 38.7 ซึ่งทรงตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2567 สาเหตุจากครัวเรือนไทยยังมีความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและราคาสินค้า โดยเฉพาะหมวดพลังงาน ขณะที่ดัชนีดังกล่าวใน 3 เดือนข้างหน้าปรับลดต่ำสุดในรอบ 7 เดือน จากความกังวลเกี่ยวกับภาระการครองชีพ ที่เพิ่มขึ้นในทุกองค์ประกอบในปี 2567

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้สอบถามเพิ่มเติมถึงแนวทางการประหยัดค่าไฟฟ้าของครัวเรือน ซึ่งผลสำรวจพบว่า ครัวเรือน 68.6% เลือกที่จะลดการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนมากที่สุด รองลงมา 45.9% ครัวเรือนเลือกจัดหาอุปกรณ์/เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดไฟ 37.3% ครัวเรือน เลือกใช้ไฟฟ้านอกที่พักอาศัย อาทิ ห้างสรรพสินค้า หรือร้านอาหารและเครื่องดื่ม และ 13.2% ครัวเรือนเลือกใช้พลังงานทดแทนในปี 2567 ครัวเรือนส่วนใหญ่ 80.4% มีมุมมองว่าจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยครัวเรือนเลือกที่จะใช้สินค้าทั่วไปที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือตั้งใจที่จะลดการใช้สินค้าที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอยู่ที่ 73.6% และ 68.4% ตามลำดับ

อีกส่วนหนึ่ง ครัวเรือนคาดว่าจะซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีมูลค่าสูงในปีนี้ เช่น รถไฟฟ้า (รถ EV) หรือโซลาร์ รูฟท๊อป (solar rooftop) เป็นต้น 9.3% รวมถึงอาจเลือกที่จะออมหรือลงทุนในกองทุนหรือกิจการที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 6.6% ซึ่งสะท้อนว่าครัวเรือนมีการรับรู้ถึงผลกระทบจากสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป อาทิอุณหภูมิที่สูงและมลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยน พฤติกรรมการใช้จ่ายของครัวเรือนคงขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงินและความเหมาะสมของแต่ละปัจเจกบุคคล

ถึงแม้ว่า ตั้งแต่เดือน เม.. 67 เป็นต้นไป ที่หลังงบประมาณประจำปี 2567 ได้รับการอนุมัติ อาจมีเม็ดเงินบางส่วนจากภาครัฐเข้ามาช่วยหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น แต่การฟื้นตัวของดัชนี KR-ECI ยังมีปัจจัยลบต่าง ๆ เข้ามากดดัน ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวชะลอลง ภาระหนี้ครัวเรือนและต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับสูง และสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ขณะที่ยังคงต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่จากภาครัฐ (โครงการ Digital Wallet) ซึ่งหากเริ่มดำเนินการได้ในไตรมาสที่ 4/2567 ตามแผนของรัฐบาล ก็คงจะเข้ามาช่วยหนุนมุมมองด้านค่าใช้จ่ายของครัวเรือนให้ปรับดีขึ้นได้

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองว่าในปี 2567 แนวโน้มการฟื้นตัวของดัชนี KR-ECI ยังอ่อนแอ จากหลายปัจจัยที่อาจเข้ามากระทบ อาทิ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวชะลอลง และภาระหนี้ครัวเรือน และต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับสูง