กองทุนประกันสังคมของไทยเสี่ยงล้มละลายใน 30 ปีหน้า เงินกองทุนปี 65 ลดลงครั้งแรกใน 5 ปี

718
0
Share:
กองทุนประกันสังคม ของไทยเสี่ยง ล้มละลาย ใน 30 ปีหน้า เงินกองทุนปี 65 ลดลงครั้งแรกใน 5 ปี

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้ทำการประเมินความเสี่ยงทางการคลังของกองทุนประกันสังคมสิ้นสุดสิ้นปี 2565 พบว่า มีเงินรวม 2.361 ล้านล้านบาท ลดลง 17,000-18,000 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 2.379 ล้านล้านบาท ปรากฎว่า เป็นกองทุนประกันสังคมที่ลดลงครั้งแรกในรอบ 5 ปีผ่านมา หรือตั้งแต่ปี 2560

สาเหตุจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของเงินลงทุนในกองทุนฯ ลดลงตามค่าดัชนีหุ้นไทย หรือ SET Index สอดคล้องกับรายได้จากการส่งเงินสมทบลดลงจากมาตรการลดการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯของนายจ้าง และผู้ประกันตนตามมาตรา 33, 39 และ 40 ในช่วงเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในไทย

ขณะที่รายจ่ายเพื่อการจ่ายคืนผลประโยชน์ทดแทนกรณีการเจ็บป่วยนั้น พบว่ายังสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 ในไทย รวมถึงประเทศไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว ส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนและความมั่นคงของกองทุนประกันสังคมในระยะยาว

ขณะที่มุมมองของนักวิชาการแสดงความกังวลอย่างมากต่อสถานะกองทุนประกันสังคมในอนาคต โดยดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า สมมติฐานของทีดีอาร์ไอ พบว่าหากคณะกรรมการยังคงปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปเช่นนี้ ในอีก 25 ปีข้างหน้าจะเริ่มเห็นเงินในกองทุนลดลงอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นอีก 5 ปี กองทุนก็จะติดลบและ ล้มลงในที่สุด

ดังนั้น เชื่อว่าอีก 30 ปีจากนี้ไป กองทุนประกันสังคมจะขาดสภาพคล่อง ซึ่งหลังฝ่ายการเมืองเห็นว่าเงินในกองทุนประกันสังคมลดลงอย่างรวดเร็ว ก็มีความเป็นไปได้มากที่จะมีการปล่อยสำนักงานประกันสังคมออกเป็นอิสระ

กองทุนประกันสังคมจะขาดสภาพคล่อง และล้มละลายในอีก 30 ปี ข้างหน้า ด้วยเหตุโครงสร้างประชากร สัดส่วนการจ่ายเงินบำนาญชราภาพมากกว่าการเก็บเงินสมทบเข้ากองทุน รวมถึงรัฐบาลค้างจ่ายเงินเข้ากองทุนอีกกว่า 70,000 ล้านบาท และนายจ้างหักเงินลูกจ้างแต่ไม่นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน

ดร.วรวรรณ กล่าวต่อไปว่ากฎหมายกำหนดให้กองทุนประกันสังคมลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน และหุ้นกู้เอกชน 60% และสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เช่น เงินฝากธนาคาร ตราสารหนี้ หน่วยทุน และหุ้นสามัญ 40% เพื่อให้กองทุนมีความปลอดภัย

ดังนั้น ในเมื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงได้ไม่มาก ผลตอบแทนที่ได้รับจึงไม่สูงมากนัก ต่อให้มีนักลงทุนที่เก่งและเชี่ยวชาญจำนวนมาก แต่ก็จะไม่สามารถทำกำไรได้ถึง 10% อย่างแน่นอน

ด้าน ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาสภาพคล่องดังกล่าวนั้น ด้วยการปรับขึ้นเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ควรแจ้งไปยังผู้ประกันตนก่อนจะที่ปรับขึ้น การจะปรับขึ้นเงินสมทบต้องแยกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรก จะอยู่ที่สิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนพึงจะได้รับเพิ่ม จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่? อีกส่วนคือ ต้องคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายเพิ่มของแรงงานและมนุษย์เงินเดือนหรือไม่? เพราะความสามารถในการจ่ายเพิ่มของแต่ละคนไม่เหมือนกัน