การบินฟื้น! คมนาคมเผยอุตสาหกรรมการบินสร้างรายได้เข้าประเทศ 85,000 ล้านบาทต่อปี

247
0
Share:
การบินฟื้น! คมนาคม เผย อุตสาหกรรม การบิน สร้างรายได้เข้าประเทศ 85,000 ล้านบาทต่อปี

ในการประชุมเชิงอภิปราย AOT Sister Airport CEO Forum 2022 ภายใต้หัวข้อหลัก “Resilience, Reunion and Reinventing for Aviation Sustainability”
ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ภายใต้หัวข้อหลัก “Resilience, Reunion and Reinventing for Aviation Sustainability” โดยมีบริษัทและองค์กรที่ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างท่าอากาศยาน (Sister Airport Agreement) กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) รวมทั้งผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ ผู้ประกอบการบริษัทการบิน และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน เข้าร่วมประชุม เพื่อแลกเปลี่ยน ความรู้ ประสบการณ์ และมุมมองด้านการบริหารจัดการท่าอากาศยานภายใต้สภาวการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงทั้งในปัจจุบันและอนาคต และส่งเสริมความร่วมมือเพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายพันธมิตรทางธุรกิจตลอดจนการแลกเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุดในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการให้ทัดเทียมระดับโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือกันระหว่างท่าอากาศยานระหว่างประเทศ และหน่วยงานต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมการบินที่จะช่วยกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินไปในอนาคตอย่างยั่งยืน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า อุตสาหกรรมการบินมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างรวดเร็ว สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศกว่า 85,000 ล้านบาทต่อปี แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกและประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ที่ทำให้ต้องปรับตัวและแก้ปัญหาจากการที่จำนวนผู้โดยสารทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศลดลง รวมทั้งส่งผลต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ

ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ของโลกดีขึ้นตามลำดับ ทำให้ธุรกิจการบินและธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัวและสามารถดำเนินกิจการได้ดีขึ้น ซึ่งจากข้อมูลปริมาณการเดินทาง ผ่านท่าอากาศยาน เมื่อเดือนตุลาคม 2565 มีปริมาณผู้โดยสาร รวม 3,031,971 คน เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยเดือนมกราคม – กันยายน 2565 ซึ่งมีผู้โดยสารเฉลี่ยเดือนละ 1,229,399 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 146.62 ซึ่งหน่วยงานหรือองค์กรที่บริหารจัดการท่าอากาศยานจะต้องมีแผนนโยบายและแนวทางในการฟื้นฟูและส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินอย่างยั่งยืน ซึ่งเชื่อมั่นว่าการประชุม AOT Sister Airport CEO Forum 2022 ในครั้งนี้ จะทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวความคิด ที่จะเสริมสร้างความร่วมมือของทุกองค์กรในอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศในระดับนานาชาติ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน

สำหรับการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างท่าอากาศยาน (Sister Airport Agreement : SAA) เป็นกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือกับท่าอากาศยานพันธมิตร เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการท่าอากาศยาน และการแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการปฏิบัติงานท่าอากาศยาน รวมถึงองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการของท่าอากาศยานให้ได้มาตรฐานสากล

ปัจจุบัน ทอท. จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างท่าอากาศยาน กับบริษัท/องค์กรที่บริหารจัดการท่าอากาศยานระหว่างประเทศจำนวน 13 บริษัท/องค์กร ครอบคลุมท่าอากาศยานจำนวน 17 แห่งใน 10 ประเทศ ทั้งนี้ ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว มีดำเนินกิจกรรมความร่วมมือใน 4 ด้าน คือ การประชุมร่วมกันเป็นประจำ การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การส่งเสริมการตลาดร่วมกัน เพื่อเพิ่มปริมาณเที่ยวบิน และการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างท่าอากาศยานของ ทอท. และท่าอากาศยานภายใต้ SAA และการดำเนินกิจกรรมร่วมกัน