การบินไทยจ่อออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ กลับซื้อขายในตลาดหุ้น ส.ค.68 หลังไตรมาส 1 ปี 68 ฟันกำไร 9.8 พันล้าน โต 300% รายได้เพิ่ม 12.3%

การบินไทย จ่อออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ กลับซื้อขายในตลาดหุ้น ส.ค.68 หลังไตรมาส 1 ปี 68 ฟันกำไร 9.8 พันล้าน โต 300% รายได้เพิ่ม 12.3%

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าในการออกจากการฟื้นฟูกิจการว่า ภายหลังจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2568 ได้มีมติอนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ และได้ดำเนินการจดทะเบียนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกรรมการกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ส่งผลให้ บริษัทฯ ดำเนินการตามผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการครบถ้วนแล้ว จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล โดยศาลล้มละลายกลางกำหนดนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 4 มิถุนายน 2568 เวลา 9.00 น.

ส่วนคำวินิจฉัยจะออกเมื่อใดนั้นยังไม่สามารถคาดได้ หากคำสั่งศาลออกมาช่วงครึ่งหลังเดือนมิถุนายน จะมีผลให้ หน้าที่ของผู้บริหารแผนยุติและโอนอำนาจผู้บริหารแผนที่กรรมการที่ตั้งใหม่และมีการประชุมเพื่อเลือกประธาน และกรรมการผู้ตรวจสอบ และดำเนินการตามขั้นตอนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้บริษัทสามารถนำหุ้นกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้งหนึ่ง คาดว่าจะเทรดหุ้นได้ ช่วงครึ่งหลังของเดือนกรกฎาคมหรือต้นเดือนสิงหาคม 2568

สำหรับผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาสที่ 1 ปี 2568 บริษัท และบริษัทย่อย มีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 51,625 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 45,955 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12.3% มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เท่ากับ 83.3% ใกล้เคียงกับปีก่อน ทั้งนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเนื่องมาจากปริมาณความต้องการการเดินทางของผู้โดยสารที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งบริษัทฯ ได้มีการขยายฝูงบิน เพิ่มความถี่เที่ยวบิน ส่งผลให้ปริมาณการผลิต (Available Seat Kilometers-ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 21.1% โดยมีปริมาณขนส่งผู้โดยสาร (Revenue Seat Kilometers-RPK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20.8% จากจำนวนผู้โดยสารรวม 4.33 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.6%

บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 37,964 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3,084 ล้านบาท (8.8%) จากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและการให้บริการที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะลดลงประมาณ 1.7% จากปีก่อน อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรจากการดำเนินงานไว้ได้ในระดับที่น่าพอใจ โดยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 13,661 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 2,586 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรากำไร (EBIT Margin) 26.5%

บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 3,481 ล้านบาท มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นค่าใช้จ่าย 339 ล้านบาท

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles