การบินไทยเปิดแผนฟื้นฟูหั่นพนักงานออก 14,000 – 16,000 คน

506
0
Share:

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย เปิดเผยว่า การบินไทยได้ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการ ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เป็นที่เรียบร้อยตามที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 โดยหลังจากนี้จะเรียกประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 12 พ.ค.
.
ทั้งนี้โดยนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา การบินไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับสายการบินอื่นๆ ทั่วโลก โดยหลังแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยได้รับความเห็นชอบจากศาลล้มละลาย รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง การบินไทยก็พร้อมที่จะกลับมาประกอบธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง
.
โดยจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และพัฒนาแบบองค์รวมภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ คือ สายการบินเอกชนคุณภาพสูง ที่ให้บริการเต็มรูปแบบ ด้วยความแข็งแกร่งของอัตลักษณ์ความเป็นไทย เชื่อมโยงประเทศไทยสู่ทั่วโลก และสร้างผลกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่องด้วยกลยุทธ์ 4 ด้าน ได้แก่ 1.เป็นสายการบินที่ลูกค้าเลือกเป็นอันดับแรกโดยออกแบบผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของลูกค้า
.
2.เพิ่มศักยภาพด้านการพาณิชย์ ด้วยการปรับปรุงด้านการพาณิชย์ให้แข็งแกร่งขึ้น หารายได้มากขึ้น นำเสนอบริการเสริมเพื่อเป็นตัวเลือก
.
3.การบริหารต้นทุนให้สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินได้ เช่น การปรับปรุงสัญญาเช่าเครื่องบิน ลดขนาดฝูงบิน ให้สอดคล้องกับอุปสงค์ของอุตสาหกรรมการบิน การลดจำนวนบุคคลากรให้เหลือ 1.3-1.5 หมื่นคนจากเดิม 2.9 หมื่นคน
.
4.เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงด้านการปฏิบัติการ และความปลอดภัยและการเป็นศูนย์กลางการเชี่อมต่อเครือข่ายสายการบินพันธมิตรมายังจุดบินต่างๆ ในประเทศไทย
.
การปรับโครงสร้างของสายการบินต่างชาติและการปฏิรูปธุรกิจต่างๆ คาดว่าจะทำให้การบินไทยเกิดกำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) ประมาณ 10% ภายในปี 2568
.
ส่วนการบริหารจัดการภาระหนี้สินการบินไทย จะมีการเรียกประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 12 พ.ค. ซึ่งยืนยันจะไม่ใช้วิธีการแฮร์คัท แต่ใช้วิธียืดหนี้ งดจ่ายหนี้ในช่วง 3 ปีแรกนอกจากนี้มีแผนที่จะระดมทุนเพื่อใช้เป็นสภาพคล่อง วงเงินรวม 5 หมื่นล้านบาทภายใน 2 ปี ซึ่งอาจเลือกทั้งวิธีเพิ่มทุนหรือการกู้เงินเพิ่ม
.
ส่วนในเบื้องต้น คณะผู้ทำแผนเสนอให้ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล เป็นผู้บริหารแผนที่จะบริหารและจัดการธุรกิจภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อไป โดยผู้ทำแผนได้เตรียมความพร้อมที่จะดำเนินการตามแผนเอาไว้เป็นอย่างดีและได้ดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงไปแล้วดังที่กล่าวไว้ข้างต้น