รัฐมนตรีช่วยศึกษาธิการชี้ปมโรคโควิด-19 ในไทย มีผลให้ผลทดสอบปิซ่าเด็กไทยตกต่ำใน 20 ปี

275
0
Share:
รัฐมนตรีช่วยศึกษาธิการชี้ปมโรค โควิด-19 ในไทย มีผลให้ผลทดสอบปิซ่า Pisa เด็กไทยตกต่ำใน 20 ปี

นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ได้ตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาผลประเมินผลสอบวิชาการปิซ่า (PISA) เพื่อดูแลปัญหาแล้ว การทำงานของคณะทำงานชุดนี้ มอบหมายสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และทุกคนที่เกี่ยวข้อง ตั้งขึ้นเป็นคณะทำงาน เพื่อวัตถุประสงค์ 2 อย่าง ประกอบด้วย 1. หาปัญหาที่แท้จริงว่าคืออะไร 2. วิธีการดำเนินการแก้ไขมีอะไรบ้าง ทั้งนี้ ในเรื่องของหลักสูตร และความรู้ในการใช้คอมพิวเตอร์ของเยาวชนไทยก็มีผล

นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวยืนยันว่า แต่ยอมรับว่า การสอบปิซ่า (PISA) ครั้งที่ผ่านมาเกิดขึ้นในช่วงโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ เข้ามาเปลี่ยนแปลงทั่วโลกทันที โดยเฉพาะการเรียนออนไลน์ ดังนั้น ก็ต้องสะท้อนปัญหาตรงนี้ไปด้วยในสิ่งที่เราต้องคิดต่อยอด ส่วนกรอบเวลาของคณะทำงานฯ ชุดนี้ คงใช้เวลาไม่นาน

นอกจากนี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาผลการทดสอบปิซ่า (PISA) เพื่อดูแลปัญหาแล้ว หลักสูตรก็เป็นอีกเรื่องที่มีผล ซึ่งหลักสูตรที่ใช้ในปัจจุบันกำลังมีปัญหาก็ต้องมาพูดคุยกัน ในครั้งหน้าก็ได้ตั้งเป้าและรับประกันว่า สถานการณ์ต้องดีกว่าครั้งที่ผ่านมา ซึ่งการสอบปิซ่าได้ดำเนินการไปแล้ว ก่อนที่รัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามาบริหาร

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคมผ่านมา องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD เปิดเผยรายงานการประเมินสมรรถนะผู้เรียนตามมาตรฐานสากล หรือ Programme for International Student Assessment หรือ PISA ประจำปี 2022 โดยการประเมิน PISA 2022 มีนักเรียนเข้าร่วมการประเมินประมาณเกือบ 700,000 คน เป็นตัวแทนของนักเรียนอายุ 15 ปี ประมาณ 29 ล้านคน จาก 81 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งผลที่ออกมาพบว่า เด็กนักเรียนไทยมีความสามารถแย่ลงในทุกทักษะเมื่อเปรียบเทียบในช่วง 4 ปีผ่านมา หรือตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งทักษะของเด็กนักเรียนไทยตกต่ำลงทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน

ที่สำคัญ ในการทดสอบ PISA ในครั้งล่าสุดนี้ ยังพบว่า คะแนนเฉลี่ยในทุกทักษะของเด็กไทยทำสถิติต่ำที่สุดกว่าการทดสอบครั้งก่อน ๆ หรือนับแต่ไทยเข้าร่วมประเมินเป็นครั้งแรกเมื่อ 20 กว่าปีก่อนในช่วงต้นทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา

องค์กร PISA ในประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลการประเมินของนักเรียนในประเทศไทย พบว่านักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์อยู่ที่ 394 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 409 คะแนน และด้านการอ่าน 379 คะแนน ซึ่งเมื่อนำผลการทดสอบในปี 2022 ไปเปรียบเทียบกับ การประเมินทดสอบของ PISA ในปี 2018 พบว่า คะแนนเฉลี่ยของประเทศไทยทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่านล้วนลดลงทั้งหมด โดยด้านคณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยลดลง 25 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยลดลง 17 คะแนน และการอ่านมีคะแนนเฉลี่ยลดลง 14 คะแนน

นอกจากนี้ ผลการประเมินในปี 2022 พบว่า มีนักเรียนไทยที่มีความสามารถทางคณิตศาสตร์ตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป มีอยู่ที่ 32% ในขณะที่ประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนกลุ่มที่มีความสามารถทางคณิตศาสตร์ตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป อยู่สูงถึง 69%