กูรูคาดปลายปีนี้ถึงปีหน้า ไทยเจอภัยแล้งถึงขั้นน้ำไม่พอใช้ ซ้ำรอยแล้งนานเหมือนปี 2558

340
0
Share:
กูรูคาดปลายปีนี้ถึงปีหน้า ไทย เจอ ภัยแล้ง ถึงขั้นน้ำไม่พอใช้ ซ้ำรอยแล้งนานเหมือนปี 2558

นายชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการและผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEAM GROUP เปิดเผยว่า มีความเป็นกังวลกับสถานการณ์น้ำในฤดูแล้งถัดไปคือในปี 2567

ฤดูฝนปีนี้ฝนจะตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในภาคตะวันออกและภาคใต้ประมาณ 20-30% หรือประมาณ 1,000-1,100 มม. ถ้าดูปริมาณฝนโดยรวมทั้งประเทศก็จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเช่นกันหรือประมาณ 1,200 มม. พูดง่ายๆ คือ ฝนน้อยแน่ เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณฝนรายปีน่าจะใกล้เคียงกับปี 2558 กับปี 2562 มีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,247-1,218 มม. ตามลำดับ ทั้ง ๆ ที่ใน 2 ปีนั้นประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ฝนตกมาก และน้ำมีมาก หรือภาวะ La Nina ซึ่งดีกว่าปีนี้ที่เรากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ฝนน้อย น้ำน้อย หรือภาวะ El Nino”

กรรมการและผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEAM GROUP กล่าวต่อไปว่า แม้ปริมาณน้ำในอ่างทั่วประเทศก่อนเริ่มต้นฤดูฝนจะอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยระหว่าง 55-60% แต่ก็มีอ่างเก็บน้ำหลักหลายอ่างมีปริมาตรน้ำใช้การได้จริงต่ำกว่า 20% ได้แก่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (17%) เขื่อนขุนด่านปราการชล (18%) เขื่อนอุบลรัตน์ (9%) เขื่อนจุฬาภรณ์ (13%) เขื่อนสิรินธร (12%)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขื่อนในภาคตะวันตกที่เคยเก็บกักน้ำในปริมาณมากมาโดยตลอด แต่ตอนนี้เขื่อนศรีนครินทร์เหลือแค่ 17% เขื่อนวชิราลงกรณเหลือแค่ 13% ยิ่งฤดูฝนปีนี้มาเจอสถานการณ์ El Nino ซ้ำเติมเข้าไปอีก จะทำให้สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำหลัก ๆ ของประเทศสำหรับช่วงฤดูแล้งหน้าจะเกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรกรรมและการอุปโภค-บริโภคได้

ขณะปีที่เกิดภาวะ La Nina คือมีฝนมาก และน้ำมาก ปริมาณพายุที่เข้าสู่ประเทศไทยก็ลดลง ยิ่งมาปี 2566 เกิดภาวะ El Nino ฝนตกน้อยและน้ำน้อย เราคงจะไปหวังเก็บน้ำจากพายุที่จะเข้ามาในช่วงฤดูฝนได้ยาก ดังนั้นปลายปี 2566 ต่อเนื่องไปจนถึงฤดูแล้งปี 2567 เราจะมีปัญหาเรื่องน้ำ-ภัยแล้งรุนแรง น้ำไม่พอใช้

สถานการณ์จะใกล้เคียงกับการเกิดภัยแล้งปี 2558 กับปี 2562 จึงจำเป็นที่จะต้องจัดการเก็บน้ำฝนของปี 2566 ไว้ให้มากที่สุด เพื่อให้มีน้ำไว้ใช้เพียงพอไปจนถึงเดือนพฤษภาคมปี 2567 ทุกฝ่ายทั้งภาคเกษตรกรรม-ภาคอุตสาหกรรมจะต้องเร่งสำรองน้ำด้วยการขุดสระเก็บกักน้ำของตนเองเสียตั้งแต่ตอนนี้ เพราะในฤดูแล้งปี 2567 เห็นชัดแล้วว่า ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับภัยแล้งยาวนาน

นายชวลิต จันทรรัตน์ กล่าวเพิ่มว่าผลผลิตทางการเกษตรที่จะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ El Nino มากที่สุด คือ ข้าว ข้าวโพดหวาน สับปะรด ไม้ผล โดยผลผลิตจะลดลงระหว่าง 20-40% โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปรังในครอปต่อไป จากที่เคยปลูกกันถึง 8.66 ล้านไร่ ก็จะลดลงเหลือ 2 ล้านไร่ และหลังจากที่กรมชลประทานประกาศว่าจะให้ปลูกข้าวตามฤดูฝนเท่านั้น ดังนั้น ปีนี้จะไม่สามารถปลูกข้าวได้ในระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เนื่องจากฝนทิ้งช่วง จะไปปลูกได้อีกทีในเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศให้ประเทศไทยเริ่มต้นเข้าสู่ช่วงฤดูฝนในวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา พร้อมกับเตือนด้วยว่า ปริมาณฝนรวมทั้งประเทศจะน้อยกว่าค่าปกติ 5% และน้อยกว่าปี 2565 โดยช่วงกลางเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมจะเกิดสภาวะ “ฝนทิ้งช่วง” จะเกิดการขาดแคลนน้ำด้านเกษตรในหลายพื้นที่ของประเทศ