“ก้าวไกล” ไม่เชื่อแจกเงินครั้งเดียวจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ขอทบทวนโอกาสสินเชื่อของ SME

289
0
Share:
"ก้าวไกล" ไม่เชื่อแจกเงินครั้งเดียวจะกระตุ้น เศรษฐกิจ ได้ ขอทบทวนโอกาสสินเชื่อของ SME

วันนี้ (11 ก.ย.) ที่รัฐสภา นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายนโยบายรัฐบาลว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการรายย่อยน้อยไป ซึ่งในคำแถลงนโยบาลพูดถึงเพียงว่าผู้ประกอบการ SME กำลังฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการ SME ประสบปัญหาก่อนเกิดวิกฤตโควิดแล้ว จึงกังวลว่าหากรัฐบาลมองวิกฤตเศรษฐกิจเพียงภาพกว้าง และมองว่าการกระตุ้นด้วยการแจกเงินครั้งเดียว จะฟื้นเศรษฐกิจได้ แต่ไม่ยอมลงไปรายละเอียดของแต่ละปัญหา ก็จะไม่สามารถแก้วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ได้

ผู้ประกอบการ SME คาดหวังให้กลุ่มทุนรายย่อย สามารถแข่งขันกับกลุ่มทุนใหญ่ได้ จึงอยากให้รัฐบาลทบทวนเงื่อนไขในนโยบายเศรษฐกิจ ให้มีแต้มต่อสำหรับ SME เพื่อให้ผลประโยชน์ตกกับ SME มากขึ้น และเกิดการกระจายรายได้มากขึ้น และอยากให้ทบทวนเงื่อนไขในโครงการดิจิทัลวอลเล็ทของรัฐบาล จากที่กำหนดให้ได้ในระยะ 4 กิโลเมตร เปลี่ยนเป็นกำหนดให้ใช้ได้กับเฉพาะร้านค้ารายย่อย หรือ SME เท่านั้น จะช่วยให้เงินหมุนเวียนได้หลายรอบ จะมีส่วนทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล
พร้อมกันนี้ อยากให้รัฐบาลทบทวนการเข้าถึงโอกาสสินเชื่อของ SME ซึ่งปีที่ผ่านมา มีการปล่อยสินเชื่อให้กับ SME ลดลง 2% แต่กลับปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มทุนใหญ่เพิ่มขึ้น 5% ถือเป็นความไม่เท่าเทียมในการแข่งขัน สิ่งที่ SME คาดหวัง คือ การเพิ่มวงเงินค้ำประกันให้กับสินเชื่อ SME โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยหรือรายเล็ก

นายวรภพ อภิปรายด้วยว่า การแก้หนี้นอกระบบ ไม่ปรากฏอยู่ในคำแถลงนโยบายครั้งนี้ จึงขอเสนอให้รัฐบาลมีโครงการค้ำประกันหนี้เสียให้กับผู้ประกอบตามขนาดธุรกิจ และขอให้มีธนาคารรัฐมาช่วยอนุมัติให้กับผู้ที่ติดเครดิตบูโรด้วย และต้องทำให้การอนุมัติสินเชื่อรวดเร็ว ส่วนลูกหนี้ที่เป็นหนี้นอกระบบไปแล้ว รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเจรจาให้กับเจ้าหนี้นอกระบบให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นธรรม

ส่วนการแก้หนี้เสียจากวิกฤตโควิด ที่รัฐบาลมีนโยบายพักชำระหนี้ลูกหนี้ที่มีปัญหาจากโควิดนั้น อยากเสนอให้รัฐบาลพุ่งเป้าไปที่การปลดหนี้ เช่น การแก้ไขกฏหมายให้ลูกหนี้ SME รวมถึงบุคคลธรรมดามีสิทธิขอฟื้นฟูกิจการ ฟื้นฟูหนี้สิน ให้สามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ทุกรายพร้อมกันได้ และรัฐบาลควรกำหนดให้ธนาคารรัฐ มีมาตรการปล่อยสินเชื่อเป็นธรรมให้กับลูกหนี้ เช่น หากเป็นลูกหนี้ดีมีการลดดอกเบี้ยให้ หรือหากมีปัญหาค่างวด แต่เงินต้นต้องลดลงทุกงวด ลูกหนี้จะได้มีกำลังใจชำระหนี้ต่อจนหมด

นอกจากนี้ นายวรภพ ยังต้องการให้รัฐบาลยกเลิกและปรับปรุงกฏหมายที่ไม่จำเป็น และรับฟังความคิดจากภาคเอกชนโดยตรง และให้ภาคเอกชนชี้ว่าควรปรับปรุงกฏหมายใดบ้าง ซึ่งอยากเห็นการปรับปรุงกฏหมายที่ล้าสมัย เช่น เรื่องแรงงานต่างชาติ โซนนิ่งสถานบริการ นอมินีธุรกิจต่างชาติ และแก้ไขกฏหมายเอื้อการผูกขาด