ก.ล.ต. เปิดเฮียริ่ง ปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล

238
0
Share:
ก.ล.ต. เปิดเฮียริ่ง ปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลผู้ให้บริการรับฝาก สินทรัพย์ดิจิทัล

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการเพิ่มข้อยกเว้นกรณีผู้ออกสินทรัพย์ดิจิทัลและให้บริการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกให้กับลูกค้าไม่ถือเป็นการให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่รับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (DA custodial wallet provider) รวมทั้งให้ผู้ออกเสนอขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (investment token)ที่มีบริการเก็บรักษาและรับฝากโทเคนดิจิทัลที่ตนออกเสนอขายต้องมีระบบงานหรือกลไกแยกสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าออกจากของผู้ออก (segregation) รวมถึงห้ามนำสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปหาประโยชน์ต่อ ตามที่ประกาศกระทรวงการคลังได้กำหนดให้ธุรกิจ DA custodial wallet provider เป็นธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ต้องได้รับอนุญาต โดยมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 นั้น

ก.ล.ต. พบว่า นิยามของประเภทธุรกิจดังกล่าวอาจครอบคลุมการให้บริการรับฝาก หรือเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภท ซึ่งรวมถึงกรณีที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ กรณีผู้ออกสินทรัพย์ดิจิทัล และให้บริการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวให้กับลูกค้าด้วย

ก.ล.ต. จึงเห็นควรทบทวนหลักการกำกับดูแล DA custodial wallet provider โดยในการประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ครั้งที่ 15/2565 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565
มีมติเห็นชอบการทบทวนหลักการดังกล่าว โดยเพิ่มข้อยกเว้นกรณีการให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลโดยผู้ออกสินทรัพย์ดิจิทัลและเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกให้กับลูกค้าไม่ถือเป็นการให้บริการตามนิยาม DA custodial wallet provider เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการกำกับดูแลธุรกิจผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล

นอกจากนี้ สำหรับผู้ออก investment token ที่มีการให้บริการเก็บรักษาและรับฝากโทเคนดิจิทัลที่ตนออกเสนอขาย ต้องจัดให้มีระบบงานหรือกลไกที่แยกสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าออกจากของผู้ออกให้ชัดเจน (segregation) รวมถึงห้ามนำสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าที่ฝากไว้ไปหาประโยชน์ต่อ