ขยับแข็งเล็กน้อย! ตลาดการเงินอยู่ภาวะปิดรับความเสี่ยง ค่าเงินบาทยังไม่สามารถพลิกแข็งค่าชัดเจน

231
0
Share:

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาท เปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.23 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.25 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.10-36.35 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้อัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ และมองกรอบในช่วง 36.00-36.50 บาทต่อดอลลาร์ หลังตลาดทยอยรับรู้อัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน (แกว่งตัวในช่วง 36.22-36.36 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังรายงานจีดีพีของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 ออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้ไม่นาน ก็เผชิญแรงขายทำกำไร และเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งมาจากทั้งการปรับสถานะ Short ของผู้เล่นในตลาด ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด

รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า รายงานจีดีพีล่าสุด ได้สะท้อนว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น ซึ่งจะลดโอกาสการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นบ้างของราคาทองคำ ที่ยังสามารถแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,990 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ..)

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท ยังไม่สามารถพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ชัดเจน ท่ามกลาง ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน (Risk-Off) ซึ่งต้องรอจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในฝั่งตลาดหุ้น ขณะที่การย่อตัวลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจช่วยชะลอแรงขายบอนด์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติได้ ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือน โฟลว์ซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าก็อาจยังคงเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าอยู่ ทำให้เรามองว่า เงินบาทยังมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.30 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไปจะอยู่ในโซน 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์)

อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด ตราบใดที่ ราคาทองคำยังคงทรงตัวแถว 1,990 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ ปรับตัวขึ้นบ้าง ก็อาจเห็นโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาทได้ ทว่า เรายังไม่ได้มองว่า เงินบาทจะสามารถแข็งค่าหลุดระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ จนกว่าตลาดจะปรับลดมุมมองต่อแนวโน้มเฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน (Higher for Longer)

นายพูนกล่าวว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน ตั้งแต่ช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ (ในช่วงเวลาประมาณ 19.30 . ตามเวลาประเทศไทย) โดยอัตราเงินเฟ้อกลับออกมาสูงกว่าคาดและไม่ได้ชะลอตัวลงตามที่ตลาดคาดหวัง ก็อาจหนุนให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น ได้ไม่ยาก ซึ่งอาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์ได้