ของฟุ่มเฟือย! ต่างชาติเงินฝืดชะลอซื้ออัญมณีพ่วงทองคำจากไทย ฉุดยอดส่งออกดิ่งหนัก -18%

174
0
Share:
ของฟุ่มเฟือย! ต่างชาติ เงินฝืดชะลอซื้อ อัญมณี พ่วง ทองคำ จากไทย ฉุดยอด ส่งออก ดิ่งหนัก -18%

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT กล่าวว่า ตลาดการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศไทยโดยไม่นับรวมทองคำใน 4 เดือนแรกของปีนี้ ทำมูลค่า 2,667 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 93,345 ล้านบาท เพิ่ม 5.35% อย่างไรก็ตาม เมื่อนับรวมทองคำเข้าไปด้วย กลับพบว่าทำมูลค่าเหลือเพียง 5,390 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 188,650 ล้านบาท ซึ่งลดลงมากถึง -18% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปีผ่านมา

หากพิจารณาเฉพาะเดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนล่าสุดที่มีสถิติออกมาแล้ว พบว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำทำได้มูลค่า 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หริอกว่า 15,750 ล้านบาท ซึ่งลดลงมากถึง -28.85% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีผ่านมา สาเหตุจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญหลายประเทศชะลอตัวเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ปัจจัยภาวะเงินเฟ้อในบางประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง และผลกระทบจากวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐและยุโรป ทำให้มีความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้ลดลง

ด้านการทำตลาดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในต่างประเทศ พบว่าตลาดส่งออกสำคัญมีภาวะตลาดแตกต่างกัน ได้แก่ สหรัฐลดลง 10.58% เยอรมนีลด 20.53% สหราชอาณาจักรลด 20.45% เบลเยียมลด 16.00% อินเดียลด 69.94% ญี่ปุ่นลด 3.93% ในขณะที่ อิตาลีเพิ่ม 61.47% ฮ่องกงเพิ่ม 169.19% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพิ่ม 43.62%

ในแง่ประเภทสินค้าส่งออกในกลุ่มนี้ ก็มีภาวะแตกต่างกัน ได้แก่ ทองคำเพิ่ม 48.50% แพลทินัมเพิ่ม 24.37% พลอยก้อนเพิ่ม 28.26% พลอยเนื้อแข็งเจียระไนเพิ่ม 89.92% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไนเพิ่ม 124.46% อย่างไรก็ตาม เครื่องประดับเงินลด 21.13% เพชรก้อนลด 19.74% เพชรเจียระไนลด 35.56% เครื่องประดับเทียมลด 14.77% เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่าลด 33.55% และทองคำลด 32.64%

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ผู้ประกอบการควรหาโอกาสกระจายตลาดให้มีความหลากหลาย ลดการพึ่งพาตลาดหลักเพียงแห่งเดียวมากเกินไป โดยตะวันออกกลางเป็นภูมิภาคที่น่าสนใจในการทำตลาด ในเวลาเดียวกันต้องรักษาแนวทางการทำตลาดออนไลน์ไว้ให้ต่อเนื่อง เพราะธุรกิจอีคอมเมิร์ซยังสามารถเติบโตได้เพิ่มขึ้น

แนวทางการทำตลาดด้วยกลยุทธ์ Go Green Go Fast และ Go First คือเน้นการรักษ์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีกลยุทธ์ที่รวดเร็วฉับไวในการตอบโจทย์ผู้บริโภค และเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ หรือมีผลิตภัณฑ์ในไลน์สินค้าใหม่ๆ ก่อนคู่แข่ง จะเป็นแนวทางที่เข้ากับตลาดในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี