ข้าวโลกแพงแต่ไม่มีวันปลดหนี้ชาวนา ผลิตต่อไร่แพ้บังคลาเทศ-เนปาล ลดงบวิจัยข้าวถึง 150%

332
0
Share:
ข้าว โลก แพงแต่ไม่มีวันปลดหนี้ชาวนา ผลิตต่อไร่แพ้บังคลาเทศ-เนปาล ลด งบวิจัย ข้าว ถึง 150%

สำนักข่าวรอยเตอร์นำเสนอประเด็นราคาข้าวตลาดโลกพุ่งสูงมีราคาแพงในรอบกว่า 15 ปี หว่านทั้งความหวังและความทุกข์ยากลำบากกับเกษตรกรชาวนาไทยที่เต็มไปด้วยทะเลหนี้สินล้นพ้นตัว โดยยกตัวอย่างชาวนาไทยชื่อนายศรีภัย แก้วอิ่ม เป็นเกษตรกรชาวนาอายุ 58 ปี ในจังหวัดชัยนาท มีภาระหนี้สินมูลค่ากว่า 200,000 บาท กำลังปรับทุ่งนาเพื่อปลูกข้าวนาปรังด้วยความหวังจะได้รายได้จากราคาข้าวไทยในตลาดที่ทำสถิติแพงสุดในรอบเกือบ 15 ปี แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศห้ามปลูกข้าวรอบสอง เนื่องจากภัยแล้งและสถานการณ์เอลนีโญ แต่ก็ยอมรับว่า ตัวเองและเพื่อนๆชาวนาเป็นหนี้ เมื่อต้องเจอภัยแล้ง น้ำท่วม และแมลงศัตรูพืชระบาด

ข้อมูลสถิติเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนของเกษตรไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า หนี้ครัวเรือนเกษตรกรไทยปี 2021 ย้อนกลับเพิ่มเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปีให้หลัง โดยในปี 2021 หนี้ครัวเรือนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 66.7% เมื่อเปรียบเทียบย้อนหลังกลับไปตั้งแต่ปี 2013 ที่หนี้ครัวเรือนเกษตรกรไทยอยู่ที่ระดับ 70.3% ได้ลดลงมาต่อเนื่อง ปี 2015 อยู่ที่ 68.1% ปี 2017 อยู่ที่ 67.2% ปี 2019 อยู่ที่ 62.8% ในเวลาเดียวกัน พบว่าในปี 2021 หรือปี 2564 มูลค่าเฉลี่ยหนี้สินต่อครัวเรือนเกษตรกรไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึงระดับ 22.82% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2019 หรือในปี 2562 อยู่ที่ระดับ 5.97%

นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญข้าวในประเทศไทย เปิดเผยว่าประเทศไทยเผชิญกับระบบการเพาะปลูกข้าวที่ตกอยู่ภายใต้ปัจจัยกดดันที่รุนแรง ได้แก่ สภาวะลมฟ้าอากาศที่แปรปรวนและผันผวนทุกปี ภาระหนี้สินชาวนาที่ไม่แน่นอน และขาดแคลนนวัตกรรมการพัฒนาข้าว ขณะที่สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (ONWR) เปิดเผยว่า สถานการณ์เอลนีโญในปีนี้ จะทำให้ปริมาณฝนตกลดลงถึง 18% เมื่อเปรียบเทียบกับภาวะปกติ ในขณะที่น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่สำคัญลุ่มแม่น้ำภาคกลางมีความจุน้ำรวมกันเพียง 54% ของความจุน้ำในเขื่อน

ดร.สมพร ศวิลานนท์ สถาบันคลังสมองชาติ หรือ KNIT เปิดเผยว่า ที่สำคัญ จำนวนพื้นที่ปลูกข้าวลดลงทุกปีนับตั้งแต่ปี 2020 เรื่อยมา ทำให้ผลผลิตข้าวต่อไร่หดหายไปในตัว ภาวะพื้นที่ปลูกข้าวในประเทศไทยเมื่อเดือนสิงหาคมปีนี้ลดลงอย่างมากถึง -14.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2565 ซึ่งเป็นข้อมูลจากการประเมินของรัฐบาลที่ไม่ได้รายงานก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าราคาข้าวตลาดโลกในทุกวันนี้จะมีสถิติราคาสูงในรอบ 15 ปี แต่เกษตรชาวนาไทยจะไม่ได้รับประโยชน์จากข้าวตลาดโลกแพง โดยประเมินว่าผลผลิตข้าวต่อไร่จะตกต่ำถึง 30% ในอีก 2 ฤดูกาลปลูกข้าวข้างหน้านี้ ปัญหาสำคัญคือ ภัยแล้งทำให้ขาดแคลนน้ำมาก

นายพิพนธ์ พัวพงศกร นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญเกษตรกรรม สถาบันวิจัยทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า ผลผลิตข้าวของชาวนาไทยตกต่ำมาอย่างต่อเนื่องจนในที่สุดผลผลิตข้าวต่อไร่ของประเทศไทยน้อยกว่าประเทศเนปาล และบังคลาเทศ ในปี 2018 เกษตรกรชาวนาไทยผลิตข้าวต่อไร่ได้เพียง 485 กิโลกรัม ซึ่งตกต่ำลงมาอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับเกษตรกรชาวนาเนปาลที่ปลูกข้าวได้ผลผลิตต่อไร่ที่ 560 กิโลกรัม และเกษตรชาวนาบังคลาเทศสามารถทำผลิตข้าวต่อไร่ได้สูงถึง 752 กิโลกรัม

นอกจากนี้ ในระยะเวลา 10 ปีผ่านมา เงินทุนงบประมาณสำหรับงานวิจัยข้าวในประเทศไทยที่เคยได้มากถึง 300 ล้านบาท ถูกตัดลดงบประมาณลงมาเหลือเพียง 120 ล้านบาทในปีนี้ นั่นหมายถึงตัดลดงบประมาณวิจัยข้าวในประเทศไทยลงมากถึง 150% ในทศวรรษผ่านมา ความหลากหลายทางสายพันธุ์ข้าวของไทยเก่าและล้าสมัยมาก ที่สำคัญ ยีลด์ หรือผลผลิตข้าวไทยก็ตกต่ำลงอย่างมากเช่นกัน

ทั้งนี้ ในไม่กี่ปีผ่านมา รัฐบาลอินเดียและเวียดนามกลับให้ความสำคัญกับการสรรเงินงบประมาณเพื่อการลงทุนด้านงานวิจัยข้าวซึ่งครอบคลุมทั้งการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข่าวใหม่รวมถึงการพัฒนาเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ทำให้ 2 ยักษ์ประเทศส่งออกข้าวอย่างอินเดียและเวียดนามนำหน้าประเทศไทยในด้านผลผลิตข้าวต่อไร่ และสามารถแข่งขันในตลาดส่งออกข้าวสู่ตลาดโลกได้อย่างโดดเด่น เช่น อินเดียกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของโลกไปแล้ว