ข้าวไทยจ่อหลุดท็อปทรีในอีก 5 ปีข้างหน้า หากไม่พัฒนาพันธุ์ข้าว

602
0
Share:

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าว เปิดเผยว่า สมาคมคาดการณ์การส่งออกข้าวปี 2564 มีแนวโน้มส่งออกข้าวสูงกว่าปี 2563 คาดว่าการส่งออกจะอยู่ที่ 6 ล้านตัน ต่ำกว่าเป้าทั้งปีที่ตั้งไว้ 6.5 ล้านตัน แม้จะปรับเป้าหมายลดลงจากเดิมแล้วก่อนหน้านี้จาก 7 ล้านตัน โดยมีปัจจัยที่จะสนับสนุนให้การส่งออกปี 2564 ขยายตัวมาจากแนวโน้มราคาข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว ข้าวเหนียวลดลงจากคู่แข่ง ซึ่งคาดว่าผู้นำเข้าข้าวจะหันมาซื้อข้าวไทยมากขึ้น
.
แนวโน้มข้าวหอมมะลิไทยจะลดลงมาอยู่ที่กว่า 800 เหรียญสหรัฐจากเดิมกว่า 1,000 เหรียญสหรัฐ ข้าวขาวจากกว่า 500 เหรียญสหรัฐ ลงมาอยู่ 495 เหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างเวียดนามราคาห่างอยู่ที่ 10 เหรียญสหรัฐนั้นเชื่อว่าโอกาสในการส่งออกข้าวน่าจะมีสูง พร้อมกับประเมินว่าผลผลิตข้าว 2563/64 จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น 10% เทียบจากปีที่ผ่านมา แต่ยังประเมินตัวเลขที่แน่นอนไม่ได้ พร้อมกันนี้ ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบสต็อกข้าวที่อยู่ในมือผู้ประกอบการค้าข้าวเพื่อจะได้ประเมินทิศทางการส่งออกข้าว เนื่องจากพบว่ามีการสต็อกข้าวเพื่อทำตลาดในช่วงโควิด-19 แต่พบว่าตลาดเปลี่ยนแปลงเร็วทำให้ระบายข้าวออกมาทำให้กระทบต่อราคาข้าวในตลาด
.
แต่อย่างไรก็ดี ทางผู้ส่งออกยังคงกังวลอุตสาหกรรมข้าวไทยในอนาคตจะแข่งขันในตลาดข้าวลำบากมากขึ้น หากยังประเทศไทยยังไม่มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อใช้ในการแข่งขันตลาดข้าวในตลาด ซึ่งมีเพียง 3 ชนิดข้าวที่ทำตลาดเท่านั้น คือ ข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียว
.
ขณะที่เวียดนามมีพันธุ์ข้าวออกมามากขึ้นโดยภาครัฐจัดสรรงบประมาณกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3,000 ล้านบาท เพื่อการวิจัยและพัฒนาโดยนำพันธุ์ข้าวที่ดีในตลาดมาพัฒนาเป็นพันธุ์ข้าวใหม่เพื่อทำตลาด เช่น ข้าวพันธุ์ ST24 ของเวียดนามที่ คว้ารางวัล World’s Best Rice เป็นต้น ขณะที่ประเทศไทยรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้กับการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเพียง 100 ล้านบาท/ปี และหากประเทศไทยยังทำตลาดแบบนี้ไม่มีการพัฒนาเชื่อว่าเชื่อว่าประเทศไทยจะกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับที่ 5 ของโลกภายใน 5 ปี
.
ทั้งนี้ สำหรับลำดับการส่งออกข้าวปัจจุบันอันดับ 1.คือ อินเดีย อันดับ2.เวียดนาม และอันดับ3. ไทย แต่ใน อนาคตไทยอาจตกเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 5 ของโลกโดยแพ้ให้กับเมียนมาและจีน ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้มากจากพันธุ์ของไทยที่แข่งขันในตลาดมีน้อย คุณภาพลดลงขณะที่คุณภาพของข้าวคู่แข่งดีขึ้น ปริมาณผลผลิตต่อไร่ยังน้อยต้นทุนการเพาะปลูกยังสูง