คนกรุงใช้เงินกว่า 30,000 ล้านบาทฉลองเทศกาลปีใหม่ จ่อเฮอาปาร์ตี้นอกบ้าน

278
0
Share:
คนกรุง ใช้เงินกว่า 30,000 ล้านบาท ฉลอง เทศกาลปีใหม่ จ่อเฮอาปาร์ตี้นอกบ้าน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เม็ดเงินการใช้จ่ายรวมของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 2566 จะอยู่ที่ประมาณ 30,900 ล้านบาท ขยายตัว 10.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการกลับมาทำกิจกรรม และเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นจากช่วงปีใหม่ปีที่แล้วซึ่งมีการระบาดของโอมิครอน ประกอบกับแรงหนุนส่วนหนึ่งจากมาตรการช้อปดีมีคืน ที่อาจช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของกลุ่มที่มีกำลังซื้อปานกลางถึงสูงที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่จะจัดสรรงบประมาณเฉพาะเพื่อการเฉลิมฉลองในช่วงเวลาจำกัด 4 วัน ของวันหยุดปีใหม่ หรือในช่วง 30 ธันวาคม 2565 ถึง 2 มกราคม 2566 และกลับมาวางแผนการใช้จ่ายอย่างรัดกุมหลังช่วงเทศกาล เนื่องจากยังมีความกังวลด้านค่าใช้จ่ายและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวในระดับสูงส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค เนื่องจากสถานการณ์การฟื้นตัวด้านรายได้ที่ยังเปราะบางและภาวะค่าครองชีพสูง กดดันกำลังซื้อของผู้บริโภคให้ยังต้องวางแผนการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง

อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลง ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่กลับมาทำกิจกรรมนอกบ้านและเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งช่วงเทศกาลต่างๆ ที่ผ่านมาในครึ่งหลังของปี 2565 ก็กลับมามีการจัดงานเฉลิมฉลองตามปกติ สอดคล้องไปกับผลการสำรวจ ที่คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญกับการฉลองเทศกาล โดยอาจจัดสรรค่าใช้จ่ายบางส่วนเพิ่มเติมจากค่าใช้จ่ายปกติสำหรับทำกิจกรรมในช่วงเทศกาลภายใต้งบประมาณที่จำกัด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยต่อไปว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม เห็นว่า โปรโมชั่นส่วนลดพิเศษจากร้านค้าเป็นปัจจัยที่จะกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากปกติมากที่สุด นอกจากนี้ มาตรการของขวัญปีใหม่ของภาครัฐก็มีผลต่อการตัดสินใจใช้จ่าย โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ 30,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป ที่คาดว่าจะใช้จ่ายเพิ่มเติมในช่วงต้นปี 2566 และใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามมาตรการช้อปดีมีคืน

คนกรุงเทพฯ มีแผนเลี้ยงสังสรรค์ในช่วงเทศกาลปีใหม่มากที่สุด โดยกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งเลือกไปสังสรรค์ที่ร้านอาหาร 56% มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากมีแผนเดินทางท่องเที่ยวและทำกิจกรรมนอกบ้าน และจัดสรรค่าใช้จ่ายเพื่อสังสรรค์เป็นพิเศษ โดยเฉพาะในช่วงวันส่งท้ายปีเก่าและวันขึ้นปีใหม่ แม้ว่าสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงปลายปี แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อมั่นด้านมาตรการสาธารณสุข เพิ่มการป้องกันตนเอง และเลือกร้านอาหารที่มีการจัดพื้นที่ส่วนตัว มีระบบการจองคิวล่วงหน้า เป็นต้น

ขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่เลือกปรุงอาหารรับประทานที่บ้าน มีสัดส่วนรองลงมา กว่า 43% เพราะมีความสะดวกและเลือกซื้อวัตถุดิบได้ตามงบประมาณ

ทั้งนี้ เม็ดเงินการใช้จ่ายช่วงปีใหม่ 2566 ของคนกรุงเทพฯ อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเทศกาลปีใหม่ 2561 (ก่อนการระบาดของโควิด-19) แต่การขยายตัวในปีนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำของเทศกาลปีใหม่ 2565 ประกอบกับผลของราคาสินค้าบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ ขณะที่คนกรุงเทพฯ กลับมาทำกิจกรรมตามปกติเพราะโควิด-19 คลี่คลายลง