คนงานเมียนมามีรายได้ในไทยสูงกว่าบ้านเกิด 15 เท่า รับในไทยเดือนละ 15,000 บาท

285
0
Share:
คนงาน แรงงาน เมียนมา มี รายได้ ในไทยสูงกว่าบ้านเกิด 15 เท่า รับในไทยเดือนละ 15,000 บาท

นายวิชิต คุณคงคาพันธ์ หัวหน้าพัฒนาธุรกิจระหว่างประเทศ กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือ MI GROUP เปิดเผยรายงานวิจัยชื่อว่า ผ่าขุมทรัพย์แรงงานชาวเมียนมาในประเทศไทย ซึ่งสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง 212 คนและสัมภาษณ์เชิงลึก 50 คน พบว่า เหตุผลที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยนั้น มี 88% มีปัญหาทางการเงิน ต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้น มุ่งหารายได้เป็นสำคัญ การทำงานในเมืองไทยทำให้มีรายได้ตั้งแต่ 10,000-15,000 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นค่าแรงขั้นต่ำ 500 บาทต่อวัน เมื่อเปรียบเทียบกับเงินเดือนในประเทศเมียนมา จะเห็นชัดเจนว่า รายได้ในไทยคิดเป็น 3-15 เท่าของเงินเดือนในเมียนมาที่ได้รับระหว่างเดือนละ 1,000-5,000 บาท

นอกจากนี้ ชาวเมียนมามีเป้าหมายทำงานในประเทศไทยระหว่าง 3-5 ปี ในแง่ชั่วโมงทำงาน พบว่าจะทำงานล่วงเวลามากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน หรือมากกว่านั้น และทำงานอย่างน้อย 6 วันต่อสัปดาห์ เมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานคนไทย พบว่า ทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันและทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ ในด้าน 5 อาชีพที่ชาวเมียนมาทำงานมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด ได้แก่ 39% พนักงานโรงงาน อันดับ 2 มี 18% ภาคก่อสร้าง อันดับ 3 มี 15% พนักงานขาย อันดับ 4 มี 11% เกษตรกร และอันดับสุดท้ายมี 9% รับจ้างทั่วไป

กลุ่มตัวอย่างราว 56% ยอมรับว่า รู้สึกพอใจในการใช้ชีวิตในประเทศไทยในระดับปานกลาง เพราะต้องทำงานหาเงินเพื่อเก็บออม ทำให้ชีวิตแต่ละวันมีแต่การทำงาน

หัวหน้าพัฒนาธุรกิจระหว่างประเทศ กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด เปิดเผยต่อไปว่า แรงงานเมียนมาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยจะเป็น ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง มีอายุเฉลี่ย 25-34 ปี ด้วยเป้าหมายทำงานเก็บเงินเพื่อกลับไปตั้งตัวและใช้ชีวิตที่ประเทศเมียนมา ขณะที่แรงงานดังกล่าวแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก โดยแต่ละกลุ่มมีความต้องการใช้สินค้าและบริการที่แตกต่างกัน ดังนี้

กลุ่มตั้งหลัก คือ เพิ่งเริ่มต้นชีวิตในประเทศไทย สิ่งที่ต้องการเป็นซิมการ์ด ที่อยู่อาศัย เครื่องแต่งกาย ของใช้ส่วนตัว เครื่องสำอาง กลุ่มตั้งตัว คือ แรงงานที่ทำงานแล้ว ต้องการใบอนุญาตทำงาน บัญชีเงินฝาก ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าหม้อหุงข้าว พัดลม โทรศัพท์ราคา 4,000-13,000 บาท เสื้อผ้าแฟชั่น สกินแคร์ สินค้าทั่วไป ที่สำคัญกลุ่มนี้ซื้อทองราคา 16,000 – 80,000 บาทเพื่อออมเงิน และกลุ่มตั้งใจ เน้นการติดต่อครอบครัวเพื่อโอนเงินข้ามประเทศและเตรียมตัวกลับบ้าน สิ่งที่ต้องการยา อาหารเสริม รังนก เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า สบู่ ผงซักฟอก ทีวี หม้อหุงข้าว พัดลม และทอง ทั้งนี้เพื่อเก็บเงินให้ได้ตามเป้าหมาย แรงงานเมียนมาออมเงินได้ถึง 44% หรือเกือบครึ่งของรายรับ และเป็นเงินที่ส่งกลับบ้าน 2 ใน 3 เพื่อให้ครอบครัว โดยโอนผ่านนายหน้า จะเหลือเงินเก็บที่ตัวเองแค่ 1 ใน 3

ด้านรายจ่ายของแรงงานเมียนมาในประเทศไทย พบว่า เป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 37% เช่น ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าที่อยู่อาศัย 16% เช่น ค่าเช่าอพาร์ตเม้นต์ ห้องแถว ส่วนใหญ่อาศัย 1-3 คนต่อห้อง ค่าโทรศัพท์ 3% ตกเฉลี่ยเดือนละ 200 บาท โดยจะเน้นใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อดูหนัง ละคร ข่าวสาร ฟังเพลง ในแง่การซื้อสินค้าออนไลน์จะซื้อผ่านลาซาด้าเป็นอันดับหนึ่ง อันดับต่อมา คือ เฟซบุ๊ก ช้อปปี้ ติ๊กต็อก ตามลำดับ และวันหยุดจะเล่นอินเตอร์เน็ต เดินซื้ออาหาร สินค้าของเมียนมาที่ตลาดนัดจตุจักร ซื้อเสื้อผ้าแพลตตินั่ม

ทั้งนี้ แรงงานเมียนมาในประเทศไทยได้รับการประเมินว่ามีเป็นจำนวน 6.8 ล้านคน อาศัยกระจายอยู่ตามชายแดนและพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ในจำนวนนี้ได้รับการลงทะเบียนกว่า 1.85 ล้านคน หรือคิดเป็น 67% ของจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ลงทะเบียนทั้งหมดมีทั้งสิ้นกว่า 2.76 ล้านคน

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจในไทยสามารถนำข้อมูลนำไปปรับใช้พัฒนาสินค้าและบริการที่สอดรับกับความต้องการและพฤติกรรมการจับจ่ายของกลุ่มแรงงานเมียนมาที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจตั้งแต่ 828,000 ล้านบาท ถึง 1,242,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆตามจำนวนแรงงานที่เข้ามาอยู่ในไทยเพิ่มมากขึ้น