คนยากจนในไทยลดลง 600,000 คน แม่ฮ่องสอนติดหลุมลึกความยากจน สัดส่วนคนจนมากที่สุดในไทย

199
0
Share:
คน ยากจน ในไทยลดลง 600,000 คน แม่ฮ่องสอนติดหลุมลึกความยากจน สัดส่วนคนจนมากที่สุดในไทย

นางวรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยรายงานสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย พบว่า สถานการณ์ความยากจนภาพรวมในปี 2565 ดีขึ้นหลังผ่านวิกฤตการณ์โรคโควิด-19

ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนคนจนรวม 3.8 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนคนจน 5.43% โดยลดลงจากปี 2565 ที่มีจำนวนคนจน 4.4 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนคนจน 6.32% ขณะที่เส้นความยากจนของคนไทยปรับตัวดีขึ้นจากปี 2565 โดยปรับเพิ่มขึ้นจาก 2,803 บาทต่อคนต่อเดือนในปี 2564 มาเป็น 2,997 บาทต่อคนต่อเดือนในปี 2565

จังหวัดในประเทศไทยที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด 5 จังหวัดในปี 2565 เรียงตามลำดับประกอบไปด้วย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปัตตานี ตาก นราธิวาส และ กาฬสินธุ์ ที่น่ากังวลคือ จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุด และติดใน 5 อันดับแรกของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุดต่อเนื่องกัน 19 ปี หรือตั้งแต่ปี 2545 สะท้อนให้เห็นปัญหาความยากจนเรื้อรังที่เกิดขึ้น และต้องเร่งหาทางแก้ไขในเชิงนโยบาย

สถานการณ์ด้านความเหลื่อมล้ำนั้น สภาพัฒน์เปิดเผยภาวะความเหลื่อมล้ำด้านรายจ่าย พบว่า ในภาพรวมรวมปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากตัวชี้วัดสำคัญ คือ ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคหรือสัมประสิทธิ์จีนี (Gini Coefficient) ด้านรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคในปี 2565 ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0.343 จากระดับ 0.350 ในปีก่อน หลังจากตัวชี้วัดหลายด้านค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นทั้งด้านโอกาสทางการศึกษา หลักประกันสุขภาพ และการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ของรัฐ

นางวรวรรณ กล่าวว่า ตัวชี้วัดหนึ่งที่น่าสนใจนั่นคือ การจัดสรรงบประมาณภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เมื่อดูจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุด ก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณด้านสวัสดิการต่างๆ ไม่ต่างจากจังหวัดอื่นที่มีสัดส่วนคนจนน้อย โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2,398 บาทต่อคน เช่นเดียวกับงบประมาณภายใต้ยุทธศาสตร์จังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณลงไปเท่าๆ กับจังหวัดเช่นกัน แต่ก็ยังแก้ปัญหาได้ไม่จบ จึงต้องหาวิธีในการแก้ไขอย่างตรงจุดต่อไป

ทั้งนี้ ธนาคารโลก และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดตัวรายงานการลดช่องว่าง : ความเหลื่อมล้ำและการจ้างงานในประเทศไทย