คนไทยพอใจสวัสดิการรัฐ แต่ให้เงินน้อย โอนเข้าบัญชีช้า พ่วงรอคิวนานในโรงพยาบาล

212
0
Share:
คนไทยพอใจ สวัสดิการรัฐ แต่ให้เงินน้อย โอนเข้าบัญชีช้า พ่วงรอคิวนานในโรงพยาบาล

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสวัสดิการของรัฐบาลใน 7 ด้านในปี 2565 ที่ผ่านไป โดยทำการสำรวจกลุ่มประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นในทุกจังหวัดทั่วประเทศรวม 6,970 คน ผลการสำรวจมีดังนี้

1.การใช้บริการสวัสดิการของรัฐด้านคุณภาพชีวิต เช่น เบี้ยยังชีพ เด็กแรกเกิด บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยยังชีพคนพิการ ประชาชนมากกว่า 97% ระบุว่า ไม่มีปัญหาการใช้บริการ ขณะที่น้อยกว่า 3% มีปัญหา เช่น ให้เงินไม่พอ ลำบากในการต้องไปถอนเงิน และเงินเข้าช้า

2.สวัสดิการของรัฐด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรียนฟรีถึงมัธยม ศึกษาปีที่ 3 ช่วยลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ซึ่งประชาชน 80.6% ระบุว่าสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มาก-มากที่สุด อย่างไรก็ตาม 3.2% เห็นว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายได้น้อย-น้อยที่สุด หรือไม่ช่วยเลย

3.สวัสดิการของรัฐด้านการรักษาพยาบาล ได้แก่ สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่า ประชาชนมากกว่า 97% ระบุว่าไม่มีปัญหาในการใช้บริการ และน้อยกว่า 2% มีปัญหา เช่น การบริการล่าช้า รอคิวนาน และต้องใช้บริการเฉพาะโรงพยาบาลตามสิทธิเท่านั้น

4.ความพึงพอใจในการใช้บริการด้านการรักษาพยาบาล พบว่า ประชาชนที่เข้ารับการรักษาใน โรงพยาบาลเอกชน 76.8 % มีความพึงพอใจมาก-มากที่สุด และ 1% พึงพอใจน้อย-น้อยที่สุด ส่วนประชาชนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ 70.4% มีความพึงพอใจมาก-มากที่สุด และ 3.6% มีความพึงพอใจน้อย-น้อยที่สุด

ส่วนความพึงพอใจต่อสิทธิรักษาพยาบาล พบว่า ประชาชนที่ใช้สิทธิประกันสุขภาพ/ประกันชีวิต 86.5% มีความพึงพอใจมาก-มากที่สุด รองลงมาคือสิทธิสวัสดิการ ข้าราชการ จ่ายเงินเอง สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสิทธิกองทุนประกันสังคม ตามลำดับ

5.สวัสดิการที่ประชาชนต้องการให้รัฐจัดเพิ่ม เช่น การสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือนที่เลี้ยงดูบิดา/มารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 93.5% จัดสวัสดิการศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก/ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในหน่วยงาน/ใกล้สถานที่ทำงาน 78.6% และจัดสวัสดิการขนส่งสาธารณะฟรีให้กับเด็ก/เยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี 85.9%

6.การจัดเก็บภาษีผู้มีรายได้เพื่อนำมาจัดสวัสดิการให้ครอบคลุมทุกช่วงวัย พบกว่า ประชาชน 44.6% ยินยอมให้จัดเก็บได้ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้ได้สวัสดิการที่ครอบคลุมและทั่วถึง ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียม แต่ประชาชน 37.5% ไม่ยินยอมให้จัดเก็บด้วยเหตุผลว่า ไม่มีเงินเพียงพอที่จะเสียภาษี กลัวจัดสวัสดิการให้ประชาชนไม่ทั่วถึง และไม่มีหลักเกณฑ์หรือกฎหมายที่แน่นอนรับประกันการจัดสวัสดิการให้

7.การลงทะเบียนโครงการเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 พบว่า ประชาชนลงทะเบียน 84.2% ไม่ประสบปัญหาในการลงทะเบียน ขณะที่ 15.8% ประสบปัญหา ได้แก่ รอคิวลงทะเบียนกับหน่วย งานนาน เว็บไซต์ขัดข้อง/ล่ม และเดินทางไปหน่วยงานที่รับลงทะเบียนไม่สะดวก หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล