คนไทยรุ่นใหม่ 2 รุ่น หาเลี้ยงแบบเดือนชนเดือน ต้องมี 2 อาชีพขึ้นไป หวังรายได้เพิ่ม

399
0
Share:
คนไทยรุ่นใหม่ 2 รุ่น หาเลี้ยง แบบ เดือนชนเดือน ต้องมี 2 อาชีพขึ้นไป หวังรายได้เพิ่ม

ดีลอยท์ ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการที่ปรึกษาการลงทุนชื่อดังระดับโลก เปิดเผยรายงานชื่อว่า ผลสำรวจคนรุ่นมิลเลนเนียมและรุ่นซีทั่วโลก 2022 ความพยายามสร้างสมดุล การสนับสนุนเพื่อการเปลี่ยนแปลง หรือ The Deloitte Global 2022 Gen Z and Millennial Survey: Striving of Balance, Advocating for Change โดยพบความน่าสนใจใน 4 มิติ ได้แก่ คนรุ่นใหม่ต้องดิ้นรนกับค่าครองชีพและวิตกกังวลเรื่องการเงิน พบว่าคนไทยรุ่นใหม่มีความเป็นห่วงดังนี้ คนไทยเจน Y ถึง 36% เห็นว่สค่าครองชีพ ได้แก่ ค่าที่อยู่ ค่าเดินทาง ฯลฯ คือสิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุด ขณะที่คนไทยเจน Z ถึง 33% เป็นห่วงว่าตนเองจะไม่มีงานทำ ต่อมา 3 ใน 4 หรือ 75% ของกลุ่มเจน Y (ร้อยละ 77) และกลุ่มเจน Z (ร้อยละ 72) เห็นว่าช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนห่างขึ้นเรื่อยๆ

ถัดมา พบว่าเกินครึ่งของคนไทยในกลุ่มเจน Y (ร้อยละ 67) และเจน Z (ร้อยละ 68) มีการใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน และกังวลว่าจะไม่มีเงินไปจ่ายบิลต่างๆ สำหรับคนในเจน Y ถึง 43% และเจนซี ถึง 51% ไม่มั่นใจว่าจะเกษียณอายุได้อย่างสะดวกสบาย

นอกจากนี้ 63% ของคนไทยเจน Y และ67% ของกลุ่มเจน Z มีรายได้มากกว่าช่องทางเดียว ซึ่งเป็นที่มาของ 3 อันดับงานเสริมที่นิยมมากที่สุดของคนไทย ได้แก่ การขายของออนไลน์ การเป็นศิลปิน และการทำงานองค์กรไม่แสวงหากำไร

มิติต่อมา คือการลาออกครั้งใหญ่ และโอกาสวิธีการทำงานใหม่ ๆ พบว่าคนไทยรุ่นเจน Y ถึง 13% วางแผนจะลาออกภายใน 2 ปี ขณะที่เจน Z มีถึง 39% ที่จะลาออก ดังนั้น โดยรวมแล้วทั้งคนไทยทั้ง 2 เจนมีถึง 2 ใน 3 หรือ 66% ที่อาจจะลาออกจากงานโดยไม่มีงานอื่นรองรับ หรือการสะท้อนถึงความไม่พอใจต่องาน

มิติภาคธุรกิจไทยจะทำอย่างไรเพื่อดึงคนรุ่นใหม่ให้อยู่ต่อ ลดอัตราการลาออก ซึ่งพบว่าต้องทำความเข้าใจวิธีคิดและการให้ความสำคัญของคนรุ่นใหม่ ประกอบด้วย ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ดึงคนรุ่นใหม่ไว้กับองค์กรมากที่สุด คือ ค่าตอบแทน แต่ยังมีเหตุผลอื่นด้วยที่สำคัญ คือ ความสมดุลระหว่างงานกับชีวิตที่ดี และ โอกาสการเรียนรู้และการพัฒนาตนเอง

นอกจากนี้ 64% ของคนไทยในกลุ่มเจน Y และ 71% ของกลุ่มเจน Z อยากทำงานที่ได้มาเจอหน้าเพื่อนร่วมงานบ้าง แต่ให้มีวันที่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ ด้วยเหตุผลเดียวกัน คือ ประหยัดเงิน และ มีเวลาเหลือ

ส่วนมิติสุดท้ายเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิตและความเครียดเป็นเรื่องที่สำคัญมากขึ้นกับการทำงาน โดย 2 เจนคนรุ่นใหม่มีความเครียดสูง ได้แก่ คนไทยเจน Y ถึง 42% และคนไทยเจน Z ถึง 60% ระบุว่าตนเองเครียดและวิตกกังวลมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโลกแล้ว คนไทยเครียดมากกว่า สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้เครียดคือ การเงิน โดย 67% ของคนไทยตอบเหตุผลของความเครียดว่าเป็นเรื่องนี้

ส่วนสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะหมดไฟในที่ทำงาน พบว่า มากกว่าครึ่งระบุว่ามาจากการทำงานหนัก และสภาพแวดล้อมกดดันในที่ทำงาน สิ่งเหล่านี้ทำให้คนรุ่นใหม่ลาออก อย่างไรก็ตาม มากกว่าครึ่งของคนรุ่นใหม่มองว่าหลังสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 นายจ้างหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานมากขึ้นแล้ว

ทั้งนี้ การสำรวจดังกล่าวได้ทำการสำรวจบุคลากรใน Generation Y (Millennials) จำนวน 8,412 คน และเจน Z อีก 14,808 คนโดยในจำนวนนี้รวมคนไทยรุ่นใหม่ 300 คน สำหรับคนรุ่นเจน Y คือบุคคลที่เกิดระหว่างเดือนมกราคม 1983 – ธันวาคม 1994 และกลุ่มเจน Z คือกลุ่มคนที่เกิดระหว่าง มกราคม 1995 – ธันวาคม 2003