คมนาคม ดีเดย์ 25 ส.ค. เปิดลงทะเบียนรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ผ่านแอปฯ”ทางรัฐ” มั่นใจระบบไม่ล่ม  จับมือ กทม.จัดฟีดเดอร์เชื่อมเดินทางไร้รอยต่อ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค.เป็นต้นไป เตรียมเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนใช้สิทธิมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาท (20 บาทตลอดสาย) ผ่านแอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ” สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ iOS และ Android ภายใต้เงื่อนไขว่า จะต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย โดยจะต้องระบุเลขที่บัตรประชาชน 13 หลัก บัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรโดยสาร (Rabbit Card ที่ลงทะเบียน) ที่จะใช้งานกับระบบรถไฟฟ้า ซึ่งบัตรที่ได้รับการยืนยันการลงทะเบียนจะได้สิทธิการใช้มาตรการโดยอัตโนมัติ หากไม่ลงทะเบียน จะต้องจ่ายค่าโดยสารในอัตราปกติ โดยมั่นใจว่า การลงทะเบียนดังกล่าว ระบบจะไม่ล่ม เนื่องจากจะใช้รูปแบบคล้ายกับการเปิดให้ลงทะเบียนนโยบาย “ดิจิทัลวอลเล็ต” ที่มีผู้ลงกว่า 18 ล้านคน แต่ระบบสามารถรองรับได้

สำหรับ การลงทะเบียนใช้สิทธิมาตรการค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น ประชาชนทุกคนได้สิทธิ์อย่างเท่าเทียม และการลงทะเบียนไม่มีวันหมดอายุ โดยจะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค.68 เป็นต้นไป และจะเริ่มใช้มาตรการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.68 เป็นต้นไป ครอบคลุมโครงข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 8 สาย รวม 13 เส้นทาง ทั้งสิ้น 194 สถานี ระยะทางรวม 276.84 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งมั่นใจว่า เมื่อเปิดใช้มาตรการดังกล่าวแล้ว จำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 20%

ในระยะแรกจะใช้รูปแบบบัตร Rabbit Card สามารถใช้บริการได้ 4 สาย คือ สายสีเขียว, สีทอง, เหลือง, ชมพู ขณะที่บัตร EMV Contactless (Visa/Mastercard) ตามเงื่อนไขธนาคารที่เข้าร่วมให้บริการที่กำหนด สามารถใช้บริการได้กับ 6 สาย คือ สายสีแดง, น้ำเงิน, ม่วง, ชมพู, เหลือง, แอร์พอร์ต เรล ลิงค์ (ARL)

ทั้งนี้ ในเบื้องต้น หากประชาชนผู้ใช้บริการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าข้ามสาย จะต้องถือบัตร 2 ใบ แต่ชำระค่าโดยสารเพียง 20 บาทตลอดสายเท่านั้น ส่วนในระยะต่อไป จะนำเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมเข้ามาใช้ในการพัฒนาระบบ อาทิ การสแกนจ่ายด้วย QR CODE สแกนจ่ายค่าโดยสาร เพื่อเพิ่มความสะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น

สำหรับมาตรการค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ถือเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทย และกระทรวงคมนาคม ซึ่งจะช่วยลดค่าครองชีพในการเดินทางให้กับพี่น้องประชาชน อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะอย่างเท่าเทียม ปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังช่วยลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนน ลดการเกิดอุบัติเหตุ และมลพิษทางอากาศอย่างมีนัยสำคัญด้วย

ด้านนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการพัฒนาระบบเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างกระทรวงคมนาคม และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่า ได้หารือกับ กทม.เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการบริหารจัดการด้านการจราจร และจัดระบบขนส่งมวลชนที่เป็นฟีดเดอร์ (Feeder) เพื่อรองรับมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายให้เกิดการเชื่อมต่อการเดินทาง เนื่องจากประเมินว่า รูปแบบการเดินทางในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะเปลี่ยนไปเน้นระบบรางมากขึ้น ดังนั้น รถประจำทางขสมก. ซึ่งจะปรับใช้เป็นรถ EV นั้น การจัดเส้นทางต้องเหมาะสม และสอดคล้องกับรูปแบบการเดินทางในปัจจุบัน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า รูปแบบการเดินทางในกทม. มีรถไฟฟ้าเป็นเส้นเลือดหลัก และมีรถเมล์ และรถจักรยานยนต์รับจ้าง เป็นเส้นเลือดฝอย โดยที่ผ่านมา กทม. มีบริการ BMA Feeder เดินรถ Shuttle Bus เพื่อผู้โดยสารเข้าสู่รถไฟฟ้า โดยเป็นการให้บริการฟรีเพื่อทดสอบความต้องการของตลาด หากมีปริมาณผู้โดยสารก็เปิดให้เอกชนเข้ามาทำการเดินรถต่อไป โดยจะเน้นเส้นทางที่มีความจำเป็น

ส่วนรถจักรยานยนต์รับจ้าง ปัจจุบันมีประมาณ 5,000 วิน มีคนขับวินประมาณ 80,000 คน ซึ่ง กทม.มีคณะกรรมการแต่ละเขตกำกับดูแล มีฐานข้อมูลดิจิทับเก็บไว้ โดยจะร่วมมือกับกระทรวงคมนาคม ในการกำกับดูแลทั้งเรื่องปริมาณและคุณภาพ เบื้องต้นมี 3,000 วิน ที่ตั้งอยู่บนฟุตบาธทางเท้า ซึ่งจะมีการบริหารจัดการเพื่อให้มีความเหมาะสมทางกายภาพของพื้นที่ และถนน โดยต้องพิจารณาปัจจัยเรื่องการเชื่อมต่อรถไฟฟ้า ขณะที่ป้ายรถเมล์ มีทั้งเป็นของ กทม.และของหน่วยงานอื่น ซึ่งจะมีการหารือเพื่อดูตำแหน่งตั้งป้ายรถเมล์ที่เหมาะสม เพื่อเสริมให้การใช้บริการรถไฟฟ้าได้สะดวกไร้รอยต่อ และมีเทคโนโลยีบอกระยะเวลา สายรถเมล์ที่จะมาถึงป้าย โดยใช้ระบบ GPS เชื่อม นอกจากนี้ จะร่วมกับ ขบ. ในการกำกับดูแลรถแท็กซี่ การจอดรับในจุดต่าง ๆ กรณีไม่กดมิเตอร์ เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างเป็นธรรม

ในส่วนของตลาดนัดจตุจักรไม่ใช่ธุรกิจหลัก หรือกิจการที่ กทม.ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีการโอนให้กทม.ดูแล และบริหารสัญญาเช่าพื้นที่ช่วง คสช. ซึ่งจากนี้จะมีการหารือเพื่อโอนคืนให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต่อไป เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด เพราะตลาดนัดจตุจักรเป็นอีกจุดที่มีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ช่วยสร้างรายได้ให้ประเทศ

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles