ครม.ต่อเวลาซอฟท์โลนอุ้มท่องเที่ยวถึงกลางปีหน้า – ลดภาษีน้ำมันเครื่องบิน

870
0
Share:

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ ครม. เปิดเผยว่า การประชุม ครม. ได้เห็นชอบมาตรการตามที่กระทรวงการคลังเสนอทบทวนมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ได้รับผกระทบจากโควิด-19 ประกอบด้วย
.
1. ปรับเพิ่มวงเงินสินเชื่อต่อราย Soft loan ท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่องของธนาคารออมสิน จากเดิมไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย เป็นไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย โดยธนาคารออมสินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงินในอัตรา 0.01% ต่อปี และสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อต่อให้ผู้ประกอบการ ดอกเบี้ย 2% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี และขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2564 จากเดิมต้องขอภายใน 30 ธ.ค. 2563
.
2. ขยายขอบเขตคุณสมบัติของผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้โครงการ PGS Soft Loan พลัส วงเงิน 57,000 ล้านบาท ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมมาตรการสินเชื่อ Soft loan ท่องเที่ยวตามข้อ 1 แต่ยังไม่ได้รับสินเชื่อตามมาตรการดังกล่าว จากเดิมที่ บสย. ค้ำประกันให้เฉพาะกับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับสินเชื่อตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. Soft Loan) ทั้งนี้ บสย. คิดค่าธรรมเนียม 1.75% ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 8 ปี โดยเริ่มค้ำประกันในต้นปีที่ 3 นับจากวันที่ผู้ประกอบการแต่ละรายได้รับสินเชื่อ

3. ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อ Soft loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงิน 5,000 ล้านบาท ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2564 จากเดิม 30 ธ.ค. 2564 โดยธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยวและ Supply Chain วงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี
.
4. ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อ Extra cash วงเงิน 10,000 ล้านบาท ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2564 จากเดิม 30 ธ.ค. 2563 โดยธนาคารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(เอสเอ็มอีแบงก์) ปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ขนาดย่อมในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่น ๆ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ย 3% ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ 5 ปี โดยปัจจุบันเอสเอ็มอีแบงก์ปล่อยกู้ดังกล่าว 521 ล้านบาท ยังเหลือวงเงินสินเชื่ออีกจำนวนมาก
.
นอกจากนี้ครม.ยังอนุมัติ ลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสําหรับเครื่องบินไอพ่นจาก 4.726 บาทต่อลิตร เหลือลิตรละ 0.20 บาท โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 30 เม.ย.2564
.
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว เพื่อลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการสายการบิน และส่งผลให้สายการบินสามารถปรับลดค่าโดยสารลงจากเดิม ทําให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางลดลงและตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้น คาดว่า จะสูญเสียรายได้ประมาณ 700 ล้านบาท