ครม. อนุมัติก่อสร้าง 2 โครงการ “สะพานข้ามทะเลสาบสงขลา-สะพานเชื่อมเกาะลันตา”

241
0
Share:
ครม. อนุมัติ ก่อสร้าง 2 โครงการ “สะพานข้ามทะเลสาบสงขลา-สะพานเชื่อมเกาะลันตา”

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันนี้ (18 ตุลาคม 2565) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ มีมติอนุมัติ 2 โครงการก่อสร้างสะพานของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา–ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง วงเงิน 4,841 ล้านบาท และ 2.โครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา ต.เกาะกลาง–ต.เกาะลันตาน้อย อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ วงเงิน 1,854 ล้านบาท

ทั้ง 2 โครงการดังกล่าว จะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี (2566-2568) โดยคาดว่า จะเริ่มกระบวนการประกวดราคา ธ.ค. 2565 และจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างใน ก.ย. 2566 ซึ่งเมื่อทั้ง 2 โครงการแล้วเสร็จ จะเป็นแลนด์มาร์ค (Landmark) ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในอนาคต พร้อมทั้งช่วยส่งเสริมศักยภาพด้านการท่องเที่ยว และอำนวยความสะดวกในการคมนาคมขนส่งได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอีกด้วย

สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลานั้น สะพานมีขนาด 2 ช่องจราจร ซึ่งสามารถขยายเป็น 4 ช่องจราจรได้ในอนาคต และมีรูปแบบสะพานที่เหมาะสม คือ สะพานคานขึง (Extradosed Bridge) และสะพานคานคอนกรีตรูปกล่องความหนาคงที่ (Box Segmental Bridge) รวมระยะทางทั้งสิ้น 7 กิโลเมตร (กม.)

นอกจากนี้ บริเวณราวสะพานได้ออกแบบให้มีความสวยงาม โดยนำรูปแบบทางจิตรกรรมมโนราห์ของท้องถิ่นมาประยุกต์อีกด้วย อีกทั้ง ช่วยเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งให้เกิดความสมบูรณ์ เพิ่มศักยภาพในการเดินทางเชื่อมระหว่าง จ.พัทลุง กับ จ.สงขลา ลดระยะทางประมาณ 80 กม. หรือลดระยะเวลาในการเดินทางราว 2 ชั่วโมง

ส่วนโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา จะก่อสร้างสะพานเป็นรูปแบบสะพานคานขึง (Extradosed Bridge) และสะพานคานยื่น (Balanced Cantilever Bridge) ความยาวสะพาน 1,825 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร ช่องละ 3.75 เมตร ไหล่ทางข้างละ 2.5 เมตร พร้อมถนนต่อเชื่อมทั้งสองฝั่ง รวมระยะทาง 415 เมตร รวมระยะทางตลอดโครงการ 2,240 เมตร ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางโดยเฉพาะในช่วงวันหยุดหรือเทศกาลจากเดิมต้องใช้เวลา 2 ชั่วโมง เหลือเพียง 2 นาที สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลในจังหวัดกระบี่ได้อย่างรวดเร็วหากมีเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินและเป็นเส้นทางสำหรับอพยพประชาชนในกรณีเกิดภัยพิบัติ