คลังชี้แจงกรณีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเราชนะ

481
0
Share:

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวชี้แจงถึงข้อวิจารณ์โครงการ “เราชนะ”เกษตรจะไม่ได้รับประโยชน์ว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนด้วยการสนับสนุนวงเงินช่วยเหลือไม่เกิน 3,500 บาท/คน/เดือน โดยจ่ายเป็นรายสัปดาห์ เป็นระยะเวลา 2 เดือน คือก.พ.และมี.ค.64
.
โดยการคัดเลือกผู้ได้รับสิทธิ์จะคำนึงจากความสามารถในการจ่ายค่าครองชีพและการมีระบบคุ้มครองทางสังคมเป็นหลัก และการช่วยเหลือจะครอบคลุมประชาชนหลากหลายกลุ่มอาชีพ เช่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หาบเร่ แผงลอย รับจ้าง เกษตรกร เป็นต้น ซึ่งกำหนดคุณสมบัติผู้ได้รับสิทธิ์ ดังนี้
.
1) เป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
2)ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม
3) ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานของรัฐที่ได้รับค่าตอบแทนจากหน่วยงานของรัฐโดยตรง
4) ไม่เป็นข้าราชการการเมืองตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
5) ไม่เป็นผู้รับบำนาญปกติหรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ
6) ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 300,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด
7) ไม่มีเงินฝากรวมกันทุกบัญชีเกิน 500,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด
ดังนั้น หากเกษตรกรเป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับวงเงินช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทันที
.
ส่วนเกษตรกรที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะมีการตรวจสอบในกลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ที่ได้ให้ความยินยอมให้นำข้อมูลไปประมวลผลหรือเปิดเผยเพื่อดำเนินมาตรการอื่น ๆ ของรัฐได้ (กลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”ฯ) ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ หากผ่านการตรวจสอบและคัดกรองตามคุณสมบัติข้างต้นจากฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ จะได้รับวงเงินช่วยเหลือผ่านระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ทันที
.
หากเกษตรกรเป็นผู้ที่ไม่มีข้อมูลอยู่ในระบบฐานข้อมูลกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”ฯ ต้องลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com หากผ่านการตรวจสอบและคัดกรองตามคุณสมบัติข้างต้นจากฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ จะได้รับวงเงินช่วยเหลือผ่านระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”