คลังประเมินเบิกจ่ายงบ 67 ล่าช้า 6 เดือนกระทบงบลงทุนไตรมาส 4/66 และไตรมาส 1/67 ลดลง

318
0
Share:
คลังประเมินเบิกจ่าย งบประมาณ 67 ล่าช้า 6 เดือนกระทบงบ ลงทุน ไตรมาส 4/66 และไตรมาส 1/67 ลดลง

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กรณีที่การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ล่าช้าไปกว่ากำหนดการเดิมประมาณ 6 เดือนนั้น

สำนักงบประมาณได้เตรียมการจัดทำหลักเกณฑ์การใช้งบประมาณไปพลางก่อน เพื่อรองรับการใช้จ่ายงบประมาณในช่วงที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ยังไม่มีผลบังคับใช้ รวมทั้งจัดทำร่างการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

นอกจากนี้ ยังเตรียมข้อเสนอการจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยหารือร่วมกัน 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณารายรับ รายจ่าย และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้ได้กรอบวงเงินงบประมาณที่สอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญ

ส่วนกรณีการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งกระทบให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ล่าช้าออกไปนั้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในวงจำกัด หรือส่งผลให้อัตราการเติบโตลดลงเพียง 0.05% เท่านั้น เพราะงบประมาณรายจ่ายปี 66 จะมีผลเฉพาะไตรมาสที่ 4 ของปีปฎิทินเท่านั้น

อย่างไรก็ดี สศค. คาดว่าตลอดทั้งปีงบประมาณรายจ่ายของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กรอบวงเงินงบประมาณ 3.35 ล้านล้านบาท จะสามารถเบิกจ่ายได้ที่ 92.6% ลดลงเล็กน้อยจากอัตราเบิกจ่ายกรณีปกติที่ 93.4% โดยรายจ่ายประจำ 2.62 ล้านล้านบาท จะเบิกจ่ายได้ 99.2%เท่ากับกรณีปกติ รายจ่ายลงทุน7.1 แสนล้านบาท จะเบิกจ่ายได้ 68% ลดลงจากอัตราเบิกจ่ายกรณีปกติที่ 74%

ในส่วนของรายจ่ายลงทุนที่ยังเบิกจ่ายไม่หมดก็จะมีการเบิกจ่ายในปีงบประมาณถัดไป (ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีปฏิทิน 2567) ประกอบกับทิศทางของเศรษฐกิจที่น่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นจากการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัวเพิ่มเติมที่ 0.03% ต่อปี จากกรณีฐาน ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวที่ 3.8%

ขณะที่การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะล่าช้าไปกว่ากำหนดเดิมประมาณ 6 เดือนนั้น จะส่งผลให้งบลงทุนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 (ไตรมาสที่ 1 ปีงบประมาณ) ลดลงจำนวน7.53 หมื่นล้านบาท และในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 ลดลงจำนวน 6.34 หมื่นบาท ลดลงรวมทั้งสิ้น 1.387 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี สศค. คาดว่าหลังจากรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ จะมีการเร่งเบิกจ่ายในช่วงครึ่งปีหลังของปีงบประมาณ 2567 ทำให้ในภาพรวมทั้งปี 2567 ความล่าช้าของงบลงทุนจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก และสามารถใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลางก่อน หรือให้ส่วนราชการใช้วงเงินตามกรอบงบประมาณ ปี 2566 ไปก่อน เพื่อช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศที่อยู่ในช่วงการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า และเป็นการประคับประคองเศรษฐกิจไประยะหนึ่งจนกว่าการเบิกจ่ายงบประมาณจะเข้าสู่สถานการณ์ปกติ