คลังมั่นใจปีนี้เศรษฐกิจไทย 1% ต่างชาติเข้าไทยตั้ง 1.8 แสนคน ปีหน้ามองโลกสวยไทยโต 4%

487
0
Share:

วันนี้ 28 ตุลาคม 2564 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง คาดการณ์จีดีพีไทยในปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 1 หลังจากเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 เผชิญผลกระทบจากโควิด-19 รัฐบาลจึงมีข้อกำหนดป้องกันโควิดอย่างเคร่งครัด ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจหยุดชะงัก เมื่อขณะนี้สถานการณ์ได้ผ่อนคลายลง เปิดให้ภาคเอกชนหันกลับมาให้บริการ มาตรการเปิดประเทศรองรับนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการร้านค้ากลับมาให้บริการ ภาคขนส่ง การค้าปลีก เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ทำให้การบริโภคในประเทศขยายตัวร้อยละ 0.8 การส่งออกปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 16.3

การปรับจีดีพีของกระทรวงการคลังครั้งนี้ ภายใต้สมมติฐาน 5 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย การเติบโตของประเทศคู่ค้า 15 ประเทศ คาดว่าเติบโตร้อยละ 5.4 ปี 64 และขยายตัวร้อยละ 4.8 ในปี 65 เศรษฐกิจโลกเริ่มออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากปัญหาโควิด-19 อัตราแลกเปลี่ยน ปี 64 มีแนวโน้มอ่อนค่าลง 31.93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และในปี 65 ยังอ่อนค่าต่อเนื่อง 32.7 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบ 65.4 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เพราะกลุ่มโอเปกเพิ่มกำลังการผลิตเพียง 4 แสนบาร์เรล/วัน จากนั้นในปี 65 คาดว่าปรับลดลงเหลือ 68.6 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นมากนัก ความต้องการจึงไม่สูงมากนัก

เมื่อเปิดประเทศตั้งแต่ 1 พ.ย.64 คาดการณ์จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาทั้งปี 64 จำนวน 1.8 แสนคน โดยช่วงไตรมาส 4 เพิ่มขึ้น 1 แสนคน จากนั้นในปี 65 เพิ่มขึ้น 7 ล้านคน ทั้งกลุ่มสหรัฐ ยุโรป จีน จะเดินทางเข้ามาสูงขึ้น ยอดจองห้องพักในต้นปีหน้า ค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริป สร้างรายได้เข้าประเทศ 3.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มจาก 1 หมื่นล้านบาท ในปี 64
โดยโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ บัตรสวัสดิการฯ ยังเป็นส่วนกระตุ้นการใช้จ่ายสำหรับเงินกู้เพื่อใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ยอดเงินกู้จาก พ.ร.ก. 1 ล้านล้าน อนุมัติแล้ว 9.8 แสนล้านบาท ส่วนเงินกู้จาก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 1.4 แสนล้านบาท ยังคงเหลืออีก 3.54 แสนล้านบาท เพื่อใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยการบริโภคภาครัฐขยายตัวที่ร้อยละ 3.8 ต่อปี ส่วนการลงทุนภาครัฐ 8.1 ต่อปี อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ร้อยละ 1.0 ต่อปี โดยยังต้องจับตาดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุล -18.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ -3.7 ของ GDP จากดุลการค้าที่เกินดุลลดลงและการขาดดุลบริการเป็นสำคัญ

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ในช่วงร้อยละ 4 ต่อปี ได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว หลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เริ่มคลี่คลายลง คาดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศ 7 ล้านคน การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.8 ต่อปี เป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ การจ้างงาน และการบริโภคภายในประเทศ คาดว่าการบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 4.2 ต่อปี ภาครัฐมีเม็ดเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจปี 2565 วงเงิน 3.07 แสนล้านบาท เม็ดเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ปัจจัยต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1. ความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทั้งสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันและสายพันธุ์ใหม่ 2. ปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่อุปทานการผลิต ภาคการขนส่งระหว่างประเทศ 3. ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น 4. ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก ทั้งอัตราแลกเปลี่ยนและการเคลื่อนย้ายเงินทุน รัฐบาลจึงต้องนำมาตรการออกมาแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที