คลังหั่นจีดีพีปี 67 เหลือโต 2.4% จากเดิม 2.8% ชี้ภาคส่งออก การผลิตฟื้นตัวช้าฉุด

50
0
Share:
คลังหั่นจีดีพี เศรษฐกิจไทย ปี 67 เหลือโต 2.4% จากเดิม 2.8% ชี้ภาคส่งออก การผลิตฟื้นตัวช้าฉุด

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.4% (อยู่ในช่วงคาดการณ์ที่ 1.9-2.9%) โดยการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ได้ปรับลดลงเมื่อเทียบกับครั้งที่แล้วของกระทรวงการคลัง ณ เดือน ม.ค. 2567 ที่ 2.8% เนื่องจาก 4 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย

1. การส่งออกสินค้าที่หดตัวมากกว่าที่คาดการณ์โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567
2. การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัวซึ่งสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index: MPI) โดยเฉพาะสินค้าในหมวดยานยนต์และหมวดชิ้นส่วนและแผงวงจร ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567
3. ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและปรากฏการณ์เอลนีโญ
4. ภาคการคลังที่ยังคงใช้การเบิกจ่ายตามงบประมาณตามปี 2566 ไปพลางก่อน

ด้านเสถียรภาพภายในประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 0.6% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 0.1 ถึง 1.1%) ตามการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าอาหารบางกลุ่ม อีกทั้งราคาสินค้าในหมวดพลังงานที่ลดลงจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ

ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศ ดุลบริการมีแนวโน้มจะเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเดินทางเข้ามาในปีนี้ราว 35.7 ล้านคน ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะกลับมาเกินดุล 9.3 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 1.8% ของ GDP อย่างไรก็ตาม ช่วงต่อจากนี้เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้น เมื่อเม็ดเงินจากงบประมาณปี 2567 จะเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเร่งขึ้นได้ในช่วงที่เหลือของปี 2567 หากเม็ดเงินจากโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet สามารถเริ่มมีการใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อและสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ขยายตัวได้เพิ่มขึ้นที่ 3.3% ต่อปี ในกรณีประชาชนใช้จ่ายเม็ดเงินราว 3.5 แสนล้านบาท ภายในช่วงสิ้นปี 2567

ทั้งนี้ ยังต้องติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด อาทิ
1. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่างๆ ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป เช่น สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและอิหร่านที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ
2. ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลักและปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป
และ 3. การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเฉพาะประเทศจีนจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์