ความเชื่อมั่นทองคำ เม.ย.ขยับขึ้น บาทอ่อน แรงเก็งกำไร ปัจจัยต่างประเทศหนุน

113
0
Share:

นายพิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือน เม.ย. 67 อยู่ที่ 70.46 จุด เพิ่มขึ้น 1.08 จุด หรือคิดเป็น 1.56% จาก 69.38 จุดในเดือน มี.ค. 67 โดยมีปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของเงินบาท, แรงซื้อเก็งกำไร, ความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย, นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำระยะ 3 เดือนในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 (เม.ย. – มิ.ย.) อยู่ที่ 68.48 จุด เพิ่มขึ้น 16.83 จุด หรือคิดเป็น 32.59% จากไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 ที่ระดับ 51.65 จุด โดยมีปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของเงินบาท, ภาวะอัตราเงินเฟ้อ, ความกังวลเศรษฐกิจโลกถดถอย, แรงซื้อเก็งกำไรของกองทุน และความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย

ผลสำรวจคาดการณ์ความต้องการซื้อทองคำในช่วงเดือน เม.ย.67 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 352 ราย ในจำนวนนี้มี 176 ราย หรือเทียบเป็น 50% คาดว่าจะซื้อทองคำ ส่วนจำนวน 110 ราย หรือเทียบเป็น 31% คาดว่าจะไม่ซื้อทองคำ และจำนวน 66 ราย หรือเทียบเป็น 19% ไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำในเดือนนี้หรือไม่

ขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำจำนวน 13 ราย ในจำนวนนี้มี 10 ราย หรือเทียบเป็น 77% เชื่อว่าราคาทองคำในเดือน เม.ย. 67 จะเพิ่มขึ้น ส่วนจำนวน 2 ราย หรือเทียบเป็น 15% คาดว่าจะใกล้เคียงกับราคาทองคำในเดือน มี.ค.67 และจำนวน 1 ราย หรือเทียบเป็น 8% คาดว่าจะลดลง

สำหรับคาดการณ์กรอบราคาทองคำในเดือน เม.ย. 67 ของผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่มีมุมมอง ดังนี้ ราคาทองคำตลาดโลก (Gold Spot) ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 2,244-2,382 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่วนราคาทองคำแท่งในประเทศ (96.5%) ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 38,600-41,100 บาท/บาททองคำ และเงินบาทให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 35.98-37.07 บาท/ดอลลาร์

การลงทุนทองคำในเดือน เม.ย. 67 ผู้ค้าทองคำรายใหญ่ให้ความเห็นว่า ราคาทองคำในเดือนที่ผ่านมา ได้สร้างระดับสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาทองคำมีทิศทางไปในเชิงบวก ประกอบกับสถานการณ์ของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเป็นปัจจัยที่คอยสนับสนุนราคาทองในประเทศ

ทั้งนี้ นักลงทุนยังคงต้องติดตามสถานการณ์ของราคาทองคำที่อาจมีความผันผวนสูง ประกอบกับแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ยังคงมีความไม่แน่นอน