คาดสิ้นปีงบ’66 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 60.43% สบน.ยันยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง

274
0
Share:
คาดสิ้นปีงบ'66 หนี้สาธารณะ อยู่ที่ 60.43% สบน.ยันยังอยู่ในกรอบวินัย การเงิน การคลัง

นางแพตตริเชีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2565 ไทยมีหนี้สาธารณะคงค้างจำนวน 10.31 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 60.70% ต่อจีดีพี โดยขณะนี้หนี้สาธารณะคงค้างเกือบ 70% เป็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ส่วนเดือนกันยายน 2565 คาดว่าหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 60.56% ลดลงเล็กน้อย เนื่องจากหลายหน่วยงานไม่ได้กู้เงินตามแผน ประกอบกับจีดีพีดีไทยดีขึ้น

ส่วนในปีงบประมาณ 2566 แผนการบริหารหนี้สาธารณะนั้น มี 3 ส่วน คือ แผนการก่อหนี้ใหม่ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็น หนี้รัฐบาล 819,000 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 200,000 ล้านบาท หน่วยงานอื่นของรัฐ 30,000 ล้านบาท, แผนบริหารหนี้เดิมอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านบาท, แผนการชำระหนี้ 360,000 ล้านบาท โดยคาดว่าหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 จะอยู่ที่ 60.43%ต่อจีดีพี ซึ่งภาพรวมหนี้สาธารณะยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง และยังมีช่องให้สามารถกู้เงินได้อีก 1.7 ล้านล้านบาท เช่น หากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อยากปรับโครงสร้างประเทศอีก 1 ล้านล้านบาทก็สามารถทำได้ เป็นต้น

อีกทั้งการขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60%ต่อจีดีพี ไปเป็น 70%ต่อจีดีพี รัฐบาลก็ไม่ได้กู้เงินสูงมากจนเกือบเต็มเพดาน แต่เป็นการกู้เงินเพื่อมาช่วยเหลือประชาชนในช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจไม่ปกติ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังมีความท้าทายทั้งสภาวะตลาดการเงินที่ผันผวนและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งสบน.จะประสานความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใกล้ชิด เพื่อดูแลสภาพคล่องในตลาดการเงินให้เพียงพอสำหรับการระดมทุนของทั้งภาครัฐและเอกชน โดยที่ผ่านมาสบน.ได้เปลี่ยนดอกเบี้ยลอยตัวเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่แล้วกว่า 80% ของหนี้ทั้งหมด รวมไปถึงการของบประมาณชำระหนี้ภาครัฐเพิ่มจากสำนักงบประมาณ จากปัจจุบันสำนักงบประมาณจัดสรรหนี้ชำระเงินต้นอยู่ 3% ซึ่งเป็นไปตามกรอบที่คณะวินัยการเงินการคลังระบุไว้ว่าให้อยู่ที่ 2.5-4% แต่การชำระหนี้เงินต้น 3% ที่สบน.ได้รับส่วนมากเป็นการชำระหนี้ของรัฐวิสาหกิจมากกว่าหนี้รัฐ

ดังนั้นจึงจะต้องเจรจาเพื่อให้จัดสรรงบชำระหนี้เงินต้นในส่วนภาครัฐมากขึ้น ซึ่งสัดส่วนจัดสรรหนี้จะมากกว่า 3% เพื่อลดสถานะหนี้คงค้างของประเทศให้ลดลงอย่างต่อเนื่อง รักษาความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลและเสถียรภาพการคลังของประเทศ