คาดGDPปี 62 โตต่ำสุดในรอบ 5ปี

928
0
Share:

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เปิดเผยเศรษฐกิจไทยหรือ จีดีพีไตรมาส 3 ของปี 2562 ว่า ขยายตัว 2.4% ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 2.3% รวม 9 เดือนเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 2.5% คาดว่าจีดีพี ปีนี้จะเติบโตลดลงเหลือ 2.6% จากเดิมคาดขยายตัว 3% ต่ำสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2557 ที่ขยายตัวได้ 1% และในปีหน้าคาดว่าจะขยายตัว 2.7-3.7%
.
สำหรับภาคการส่งออกในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาไม่เติบโต แต่ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ติดลบ 4.2% และทั้งปีคาดว่าส่งออกจะติดลบ 2% จากเดิมคาดติดลบ 1.2% และปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวได้ 2.3%
.
ด้านการนำเข้าในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาติดลบ 6.8% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ติดลบ 3.4% และทั้งปีคาดว่าจะติดลบ 3.6% และปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาส 3 อยู่ที่ 0.6% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 1.1% ขณะที่ในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 0.8% และปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 0.5-1.5%
.
โดยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวดีของการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ 4.2% และได้รับปัจจัยหนุนจากอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อ และอัตราว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าเกษตร และการดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ เป็นต้น และการเร่งตัวขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน
.
แต่ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และมาตรการกีดกันทางการค้า รวมถึงปัจจัยชั่วคราวต่างๆ เช่น รถยนต์เปลี่ยนรุ่นใหม่ในช่วงปลายปี โรงกลั่นบางแห่งหยุดซ่อม และปรับมาตรฐานน้ำมันใหม่
.
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาส 4 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ดี ส่งออกเริ่มกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งหากจะทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีขยายตัวได้ 2.6% นั้น ในช่วงไตรมาส 4 เศรษฐกิจไทยจะต้องขยายตัวได้ไมต่ำกว่า 2.8% และจำเป็นต้องมีมาตรการอื่นๆเพิ่มเติม เนื่องจากปัจจัยต่างๆยังวางใจไม่ได้
.
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.7-3.7% ขณะที่สถานการณ์ค่าเงินบาทในปีหน้าคาดว่าจะอยู่ในช่วง 30.5-31.5 บาทต่อดอลลาร์ ใกล้เคียงกับปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์ แม้ว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มจะเผชิญกับแรงกดดันต่อการแข็งค่าต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ แต่แนวโน้มการฟื้นตัวอย่างช้าๆของเศรษฐกิจโลกในปี 2563 รวมทั้งแนวโน้มการคงนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ และ ธปท. ในการปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกมากขึ้น จะช่วยลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาทในปีหน้าได้