ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดตลาดอ่อนค่าตามจังหวะดอลลาร์แข็งเฟดอาจคงดอกเบี้ยระดับสูงได้นานขึ้น

90
0
Share:

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาท เปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.66 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.54 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.55-36.80 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 36.47-36.66 บาทต่อดอลลาร์) ตามที่เราได้ประเมินความเสี่ยงเอาไว้ ว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.65 บาทต่อดอลลาร์ หากรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ รวมถึงยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ของสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ซึ่งข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ออกมาดีกว่าคาดจริง โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นในเดือนพฤษภาคม สู่ระดับ 50.9 จุด และ 54.8 จุด ตามลำดับ 

ส่วนยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ก็ลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 2.15 แสนราย โดยภาพดังกล่าวได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น ส่งผลให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนราคาทองคำก็ปรับตัวลดลงหนักกว่า -40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ กดดันให้เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า การอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา ยังมีโอกาสที่จะดำเนินต่อไปได้ โดยเฉพาะ หลังเงินบาทได้อ่อนค่าลงทะลุเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน แถวโซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งจากข้อมูลสถิติย้อนหลัง พบว่า หากเงินบาทยังอยู่ในการแกว่งตัวแบบ sideways ก็สามารถอ่อนค่าทะลุเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน ได้ราว 20 สตางค์ นอกจากนี้ เงินบาทก็ยังมีปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่บ้าง ทั้งโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งทองคำและน้ำมันดิบ ในจังหวะย่อตัว นอกจากนี้ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจมีแนวโน้มเป็นการขายสุทธิได้ หลังบรรยากาศในตลาดพลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง โดยเราประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านถัดไป แถว 36.75-36.80 บาทต่อดอลลาร์ได้

ทั้งนี้ หากเงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นมาได้บ้าง เงินบาทก็อาจยังติดโซนแนวรับแถว 36.50 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงมุมมองของผู้เล่นในตลาดซึ่งปัจจุบันต่างก็กังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดมากขึ้น โดยเราคาดว่า อาจจะต้องรอจนถึงช่วงปลายเดือนพฤษภาคม หรือ ต้นเดือนมิถุนายน เพื่อให้ตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE และยอดการจ้างงานสหรัฐฯ ถึงจะเห็นการแข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของเงินบาทได้อีกครั้ง แต่ต้องลุ้นให้ ข้อมูลดังกล่าวออกมาแย่กว่าคาด หรือ อัตราเงินเฟ้อ PCE ชะลอตัวลงมากขึ้นเท่านั้น