ค้าโลกเฉื่อย! การค้าระหว่างประเทศส่อซบเซากว่าเศรษฐกิจโลกเติบโตในเกือบ 10 ปีหน้า

234
0
Share:
ค้าโลกเฉื่อย! การค้าระหว่างประเทศ ส่อซบเซากว่า เศรษฐกิจโลก เติบโตในเกือบ 10 ปีหน้า

บอสตั้น คอนซัลติ้ง กรุ๊ป หรือบีซีจี (BCG) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาการลงทุนชั้นนำแห่งหนึ่งระดับโลก เปิดเผยว่า การค้าระหว่างประเทศทั่วโลกจะขยายตัวอย่างเชื่องช้ามากกว่าภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในทศวรรษหน้า โดยอัตราการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศทั่วโลกเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 2.3% จากนี้ไปจนถึงปี 2031 เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเฉลี่ยในแต่ละปีที่ระดับ 2.5% ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ทำให้ภาวะการค้าระหว่างประเทศทั่วโลก หรือโลกาภิวัตน์จะเข้าสู่ภาวะนิ่งยาวนาน หรือ Stagnant ที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่องค์การการค้าโลก หรือ WTO ก่อตั้งขึ้นมา

บีซีจี เปิดเผยว่า ในช่วงระยะเวลา 9 ปีจากนี้ไปถึงปี 2031 มูลค่าการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนแผ่นดินใหญ่จะตกต่ำมากถึง 63,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2.14 ล้านล้านบาท ในขณะที่การค้าระหว่างกลุ่มสหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศสมาชิกกับสหรัฐอเมริกา จะเพิ่มมูลค่าขึ้นถึง 338,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 11.5 ล้านล้านบาท ซึ่งสินค้าที่จะเกิดการค้าระหว่างกันมากที่สุด คือ พลังงานจากสหรัฐอเมริกาไปกลุ่มอียู และรวมถึงการค้ากับกลุ่มอาเซียน แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอินเดีย

ขณะที่การค้าระหว่างประเทศของกลุ่มอียูกับจีนแผ่นดินใหญ่จะลดลง มีมูลค่าเพียง 72,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2.45 ล้านล้านบาท

ด้านรัสเซียจะมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศกับจีนแผ่นดินใหญ่และอินเดียเพิ่มขึ้น 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3.74 ล้านล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวเป็นมูลค่าการค้าระหว่างรัสเซียกับจีนแผ่นดินใหญ่ถึง 82% ถึง 90,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3.06 ล้านล้านบาท

นายนิโคลาส แลง กรรมการผู้จัดการบีซีจี กล่าวว่า หลังจากเป็นเวลาเกือบ 30 ปีผ่านมาของการสร้างสิ่งแวดล้อมด้านการค่าระหว่างประเทศที่มีความมั่นคง ขณะนี้การค้าโลกมาถึงจุดกึ่งกลางของการเคลื่อนไหวใหม่ระหว่างโลกตะวันตกกับตะวันออก โดยการนำของสหรัฐอเมริกากับกลุ่มสหภาพยุโรป และการนำของจีนแผ่นดินใหญ่ร่วมกับรัสเซีย ไปพร้อมๆกับการเกิดขึ้นของกลุ่มประเทศที่ไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใด

ห่วงโซ่การผลิตวัตถุดิบของโลกได้รับผลกระทบถึง 4 กลุ่ม ได้แก่ พลังงาน เกษตร โลหะอุตสาหกรรม และเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นเหตุผลถึง 80% ในการอธิบายถึงสาเหตุการทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ทั้งหมดล้วนมีสาเหตุมาจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนแผ่นดินใหญ่ และการก่อสงครามของรัสเซียที่มีต่อยูเครน

กรรมการผู้จัดการบีซีจี กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงการค้าระหว่างประเทศมาเป็นการค้าในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการสูญเสียขนาดของตลาดการค้า ทำให้เป็นส่วนหนึ่งของการนำไปสผู้การเพิ่มขึ้นของราคา ในขณะที่โลกกำลังปรับตัวเข้าสู่การค้าภูมิภาคมากขึ้น คาดการณ์ว่าแรงกดดันที่มีต่อตัวเลขเงินเฟ้ออาจลดลง ในช่วงปีนี้ถึงปี 2024 โลกจะยังคงเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อในระดับสูงต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ หรืออาเซียน จะเป็นกลุ่มประเทศที่ได้ประโยชน์จากภาวะดังกล่าว โดยใน 9 ปีจากนี้ไป มูลค่าการค้าระหว่างประเทศกับจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และกลุ่มอียู จะเพิ่มเป็น 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 34 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะการค้าระหว่างกลุ่มอาเซียนกับจีนจะมีมากถึง 438,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 15 ล้านล้านบาท