งบ 2563 เสี่ยงชัตดาวน์กระทบโครงการลงทุน

714
0
Share:

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า สำนักงบประมาณกำลังรอความชัดเจน กรณีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ หรือ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จะสามารถประกาศใช้ได้ในเร็วๆนี้หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะที่ผ่านมางบประมาณรายจ่ายปี 2563 ได้ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาวาระ 2 และ 3 รวมถึงผ่านการพิจารณาจากวุฒิสภาเรียบร้อยแล้ว โดยแผนงานเดิมคาดว่างบประมาณรายจ่ายปี 2563 จะมีผลบังคับใช้ปลายเดือน ม.ค. หรืออย่างช้าต้น ก.พ.2563 ซึ่งล่าช้ากว่าปีงบประมาณปกติถึง 4 เดือน แต่ยังพอรับได้ เพราะมีเวลาใช้จ่ายเงิน 8-9 เดือนจนถึงสิ้นปีงบ 2563 ในเดือน ก.ย.นี้
.
แต่ขณะนี้มามีปัญหากรณีที่มีการเสียบบัตรแทนกันในการลงมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ทำให้ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายงบประมาณมีผลบังคับใช้ได้ตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งจะทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณต้องล่าช้าออกไปอีก
.
นอกจากนี้ส่วนราชการจะมีเวลานำเสนอโครงการ และทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างสั้นลง เพราะปกติจะใช้เวลาทำงานเรื่องนี้ 3-4 เดือน และอีก 2-3 เดือน ถึงจะเปิดประมูลและสรรหาผู้ชนะประมูล รวมแล้วต้องใช้เวลา 6-7 เดือนถึงจะเริ่มต้นก่อสร้างได้ ดังนั้น การเบิกงบประมาณมักไปกระจุกตัวช่วงสิ้นปีงบประมาณ
.
ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ยอมรับว่า หากงบ 2563 ล่าช้า จะส่งผลกระทบต่อการลงนามสัญญาโครงการต่างๆ ที่ผ่านการอนุมัติเเล้วให้ล่าช้าออกไป รวมถึงโครงการระยะสั้น ที่ต้องเบิกจ่ายภายใน 1 ปี เช่น โครงการซ่อมบำรุงถนน รวมถึงโครงการย่อยต่างๆ ของเเต่ละหน่วยงานให้ล่าช้าออกไป เพราะต้องรอเงินเข้าระบบ เเต่จะไม่กระทบต่อโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบผูกพัน เพราะสามารถเบิกจ่ายไปพลางก่อนได้
.
ขณะที่ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักงานวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย ประเมินผลกระทบจะทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น เเละชะลอการลงทุนออกไป โดยเฉพาะในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ทำให้มีโอกาสที่การลงทุนภาครัฐจะติดลบในครึ่งปีเเรก เเละเป็นการติดลบต่อเนื่องจากช่วงไตรมาส 4
.
ส่วนนายอุตตม สาวนายน รัฐมมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยันยันว่า จะไม่เกิดภาวะชัตดาวน์อย่างเเน่นอน เพราะขณะนี้สำนักงบประมาณกำลังดูในรายละเอียด เพื่อไม่ให้ทุกอย่างสะดุด เเละบางส่วนที่เป็นรายจ่ายประจำ สามารถใช้งบประมาณรายจ่ายปี 2562 ไปพลางก่อนได้ เเม้ว่าตามกฎหมายจะให้ใช้เพียง 50% ของงบประมาณรายจ่ายในปีก่อนก็ตาม