บริษัทวิจัย โรเดียม กรุ๊ป (Rhodium Group) เปิดเผยรายงานเกี่ยวกับการใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์พลังงานไฟฟ้านำเข้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะนำเข้าจากจีน พบว่า คณะกรรมาธิการยุโรปจะปรับขึ้นอัตราภาษีระหว่าง 15-30% อย่างไรก็ตาม อัตราดังกล่าวไม่สามารถกีดกันรถอีวีจากจีนได้ ที่สำคัญ ค่ายผู้ผลิตรถอีวีจากจีนบางรายยังสามารถส่งรถอีวีเข้าไปขายในตลาดยุโรปได้ โดยที่ยังทำกำไรได้อยู่ สาเหตุจากความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิต
รายงานดังกล่าว ระบุว่า การเก็บภาษีนำเข้าที่จะกีดกันได้อย่างมีผลกระทบกับรถอีวีจีนนั้นต้องอยู่ระหว่าง 40-50% อัตรากำแพงภาษีที่สูงมากในระดับนี้ จะส่งผลให้ตลาดยุโรปกลายเป็นตลาดที่ไม่น่าสนใจอีกต่อไป และอาจจะต้องเก็บในอัตราที่สูงกว่านั้น หรือขยับเพิ่มเป็นระหว่าง 45-55% สำหรับบริษัทรถอีวีจีนที่มีการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ มาถึงปลายน้ำ ได้แก่ บีวายดี เป็นต้น
โรเดียม กรุ๊ป ชี้ให้เห็นการเปรียบเทียบระหว่างแบรนด์บีวายดี รุ่นซีลยู ที่ขายในประเทศจีนในราคาคันละ 20,500 ยูโร หรือกว่า 813,850 บาท และเมื่อนำมาขายในสหภาพยุโรปอยู่ในราคาคันละ 42,000 ยูโร หรือกว่า 1,667,400 บาท ทำให้มีกำไรในประเทศจีนคันละ 1,300 ยูโร หรือกว่า 51,610 บาท ในขณะที่กำไรในยุโรปจะอยู่ที่ 14,300 ยูโร หรือกว่า 567,710 บาท ดังนั้น กำไรที่แตกต่างกันมากกว่าดังกล่าว จึงทำให้แบรนด์บีวายดีต้องการส่งออกรถอีวีไปขายในยุโรป
กรณีสหภาพยุโรปเก็บภาษีนำเข้าที่ 30% บริษัทรถอีวีจีนยังคงมีกำไรจากการขายรถยนต์ในยุโรปมากกว่ากำไรขายรถอีวีในประเทศจีนอยู่ราว 15% ดังนั้น หากคณะกรรมาธิการยุโรปต้องการประสบความสำเร็จในการกีดกันรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ก็จะต้องตั้งภาษีในอัตราที่มากพอที่จะลบกำไรส่วนเพิ่มจากการขายในสหภาพยุโรปเป็นศูนย์
รายงานของโรเดียม เปิดเผยว่า การเก็บภาษีนำเข้ารถอีวีในอัตรา 15-30% อาจกระทบธุรกิจผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติ โดยเฉพาะยุโรป เช่น บีเอ็มดับเบิลยู หรือเทสลา ที่มีโรงงานผลิตในจีนผลิตเพื่อส่งออกไปยังยุโรปได้
ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนของสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นจาก 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 เป็น 11,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2023 คิดเป็นสัดส่วน 37% ของการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดในอียู