รัฐมนตรีช่วยคมนาคม ‘สุรพงษ์’ สั่งรฟท.เพิ่มรายได้ 30% ต้องล้างหนี้สะสมให้เกลี้ยงในปี67

206
0
Share:
รัฐมนตรีช่วยคมนาคม ‘สุรพงษ์’ สั่ง รฟท. เพิ่ม รายได้ 30% ต้องล้าง หนี้ สะสมให้เกลี้ยงในปี67

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มอบนโยบายการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยในเบื้องต้นได้รับทราบจากการรถไฟฯ ถึงผลประกอบการ พบว่าหลายปีที่ผ่านมา มีหนี้สะสมประมาณ 2 แสนล้านบาท จึงได้มอบหมายให้การรถไฟฯ หาวิธีดำเนินการเพิ่มรายได้ และลดรายจ่าย โดยตั้งเป้าภายในปีงบประมาณ 2567 การรถไฟฯ จะต้องมีการรายได้จากการดำเนินงานเป็นบวก หลังจากนั้นต้องเพิ่มขึ้นเป็นกำไร เพื่อหักกับหนี้สะสม ซึ่งจะต้องมีการอัพเดตผลดำเนินงานทุกๆ 3 เดือน อีกด้วย

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า รฟท. มีจุดแข็งเนื่องจากเป็นธุรกิจที่ไม่มีคู่แข่ง แต่จุดอ่อน คือเรื่องการพัฒนาที่มีความล่าช้า ซึ่งจะต้องมุ่งเน้นเรื่องจุดขายในการดึงผู้โดยสารมาใช้บริการ เพื่อเพิ่มรายได้ให้มาอยู่ที่ 30% หรือประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันมีรายได้จากการขนส่งสินค้าทางรถไฟอยู่ที่ 3% หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยหลังจากนี้จะตั้งทีมการตลาด เพื่อดึงรัฐวิสาหกิจ และเอกชน เข้ามาร่วมดำเนินการต่อไป

สำหรับโครงการสำคัญของรฟท. ที่จะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาเล็งเห็นว่าจะเสนอโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 สายหาดใหญ่ปาดังเปซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 6,660 ล้านบาท มีความจำเป็นที่จะต้องนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ในวันที่ 19 ตุลาคมนี้ ก่อนที่จะนำเสนอให้ ครม. เห็นชอบภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทั้งนี้ สาเหตุที่จะนำโครงการดังกล่าวเสนอเข้าที่ประชุมฯ ก่อนนั้น เนื่องจากเป็นแนวเส้นทางที่จะช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างชายแดน และเพิ่มความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชนมากขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม จะมีการเสนอโครงการรถไฟทางคู่ สายขอนแก่นหนองคาย ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 29,748 ล้านบาท และโครงการรถไฟทางคู่ สายปากน้ำโพเด่นชัย ระยะทาง 285 กม. วงเงิน 62,800 ล้านบาท และช่วงชุมทางถนนจิระอุบลราชธานี ระยะทาง 308 กิโลเมตร วงเงิน 3.75 หมื่นล้านบาท เข้าบอร์ด รฟท. หลังจากนั้นจะต้องขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง และกรมการขนส่งทางราง เป็นต้น และกลับมาที่เสนอกระทรวงคมนาคม ก่อนเสนอเข้าที่ประชุม ครม. ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้เช่นเดียวกัน โดยทั้งสี่เส้นทางดังกล่าวคาดว่าจะเปิดประมูลได้ประมาณปี 2567

 นอกจากนี้ ในการประชุมฯ ยังได้รับรายงานจาก บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) ถึงการนำที่ดินของรฟท. มาหารายได้ นั้น เบื้องต้นได้มอบหมายให้บริษัทฯ เร่งถ่ายโอนสัญญาทรัพย์สินให้มากขึ้น โดยปัจจุบันพบว่ามีการโอนแล้วเพียง 1% ส่วนเรื่องการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานนีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษา เพื่อหารายได้เพิ่มเติมร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า)