“จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์”แจงไม่เกี่ยวข้องปมทุจริตถุงมือยาง

554
0
Share:

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หรือ ปชป. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงกรณีการจัดซื้อถุงมือยางเทียมขององค์การคลังสินค้า หรือ อคส. จากการอภิปรายของนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย โดยนายจุรินทร์ชี้แจงว่า เรื่องนี้เคยตอบกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรี โดยตนในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ได้ทำหน้าที่ตอบกระทู้สดไปแล้ว โดยขอปฏิเสธไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องยุ่งเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นแบบทางการ หรือไม่เป็นทางการ หรือแอบสั่งการในที่ลับ ที่แจ้งใดๆ ก็ตาม
.
พร้อมเห็นว่า ผู้อภิปรายโกหกหลายประการในที่ประชุมสภาฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการไม่ตั้งกรรมการสอบ การอายัด การดำเนินคดี การดำเนินการเมื่อทราบเรื่องและการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ซึ่งทั้งหมดนั้นตนได้ดำเนินการไปแล้ว โดยเฉพาะทันทีที่ทราบได้ประสานงานเรื่องการย้ายอดีตรักษาการ อคส.ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรีโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรี
.
โดยไม่ว่าใครทุจริตโครงการ จะจัดการทั้งทางวินัย ทางแพ่ง ทางอาญาจนถึงที่สุด ตราบที่อำนาจหน้าที่และกฎหมายให้
.
นอกจากนี้ ผู้อภิปรายยังกล่าวเท็จกรณีมอบนโยบายเตรียมให้ทุจริต โดยให้ประธานบอร์ดไปดำเนินการซื้อขายถุงมือยาง โดยความจริงคือ นโยบายส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยกระทรวงพาณิชย์ให้ผู้ส่งออก-นำเข้าได้ค้าขายยางออนไลน์ รวมทั้งตลาดถุงมือยางเป็นยางธรรมชาติที่ช่วยชาวสวนยาง แต่ไม่ใช่ถุงมือยางเทียมที่ส่อทุจริตที่พูดอยู่ในสภาขณะนี้
.
โดยนายจุรินทร์ ได้ระบุถึงสรุปการจัดการกรณีถุงมือยางเทียม อคส. เมื่อพบในวันที่ 14 ก.ย.63 ก็ได้สั่งย้าย พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ ไปประจำที่สำนักนายกรัฐมนตรี จากนั้น 15 ก.ย.63 มีการตั้งคณะกรรมการสอบทันที ต่อด้วยวันที่ 17 ก.ย.63 ได้ระงับการซื้อขาย และเมื่อ 18 ก.ย.63 นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการ อคส.คนใหม่ ได้เข้าแจ้งความต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
.
โดยก่อนที่ วันที่ 23 ก.ย.63 จะเข้าแจ้งความต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้อำนวยการ อคส.คนใหม่ก็ได้รายงานตน 4 ครั้ง เพื่อทราบถึงการดำเนินการส่งเรื่องต่อองค์กรอิสระทั้งหมด ซึ่งกระบวนการของทางป.ป.ช.โดยประธาน ได้มีการให้ข่าวถึงความคืบหน้าแล้ว โดยกระบวนการขององค์กรเหล่านี้เป็นที่ทราบอยู่แล้วว่าไม่ว่าจะเป็นระดับใดก็จะต้องถูกตรวจสอบ
.
นายจุรินทร์ ชี้แจงว่า อคส.เป็นรัฐวิสาหกิจไม่ใช่ส่วนราชการที่รัฐมนตรีจะมีอำนาจเข้าไปสั่งการทางนโยบายได้ อคส.เป็นรัฐวิสาหกิจเดียวของกระทรวงพาณิชย์ มีกฎหมายโดยเฉพาะเรียกว่า พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ.2498 เป็นกฏหมายแม่บทที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของทุกฝ่ายไว้ชัดเจน ใครไม่ปฏิบัติตามก็ผิดกฎหมาย รัฐมนตรียังต้องปฏิบัติตาม ไม่สามารถทำนอกกฏหมายได้
.
พร้อมระบุว่า รัฐมนตรีมีอำนาจจำกัด ตามพระราชกฤษฎีกาองค์การคลังสินค้าฉบับใหม่ พ.ศ.2535 เพราะพระราชกฤษฎีกาใหม่ที่แก้ไขปี 35 ได้นำรัฐมนตรีออกจากการเป็นประธานบอร์ด อคส. โดยให้ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานบอร์ดแทน
.
ทั้งนี้ รัฐมนตรีมีอำนาจจำกัด แค่ให้บอร์ดชี้แจงแสดงความเห็น ทำรายงานยื่น และเป็นเสมือนบุรุษไปรษณีย์ เพื่อให้ อคส.เป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองในการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการ บอร์ดมีนโยบายอย่างไร รัฐมนตรีจะไปสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงมิได้ บอร์ดเป็นผู้บังคับบัญชาผู้อำนวยการ และผู้อำนวยการทำตามนโยบายบอร์ด รับผิดชอบต่อบอร์ดในฐานะผู้บังคับบัญชา โดยคณะรัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้ง ถอดถอนบอร์ด และผู้อำนวยการ
.
โดยการชี้แจงที่เกิดขึ้นเนื่องจากก่อนหน้านี้ นายประเสริฐ ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจนายจุรินทร์ ด้วยเหตุการทุจริตการจัดซื้อถุงมือยางขององค์การคลังสินค้า (อคส.) ซึ่งพบอดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมมืออย่างเป็นขบวนการ ทำให้ อคส.เสียหาย เป็นมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท