‘จุรินทร์’ โต้! แพงทั้งแผ่นดินไม่จริง ยันบริหารได้ดี ชี้ไทยยังดีกว่าหลายประเทศ

828
0
Share:
เงินเฟ้อ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ได้กล่าวถึงปัญหาสินค้าราคาแพงในที่ประชุมว่า ราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น มีปัจจัยสำคัญมาจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งราคาน้ำมันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการปรับขึ้นค่าขนส่งถึง 40% จึงมีผลกระทบต่อราคาสินค้า และอัตราเงินเฟ้อของทั่วโลกไม่เฉพาะไทย ซึ่งสถานการณ์เงินเฟ้อของไทยยังถือว่าดีกว่าหลายประเทศทั่วโลก โดยเมื่อปี 64 ภาวะเงินเฟ้อของไทยเป็นบวกอยู่ที่ 1.23% เมื่อเทียบจากการจัดอันดับทั้งหมด 177 ประเทศ ไทยอยู่อันดับที่ 154 แสดงให้เห็นว่ามีประเทศที่เงินเฟ้อต่ำกว่าไทยแค่ 23 ประเทศ แต่ที่เหลืออีก 153 ประเทศสูงกว่าไทยทั้งสิ้น

โดยในปี 64 ราคาสินค้าของไทยที่สูงขึ้นจริงๆ มีแค่หมวดเดียว คือ ขนส่ง โดยค่าเงินเฟ้อของขนส่งสูงขึ้น 7.74% เพราะราคาน้ำมันที่แพง ส่วนที่เหลือต่ำลงทั้งหมด หากจะใช้คำว่าแพงทั้งแผ่นดิน ก็ไม่ตรงกัน และสำหรับราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่เดือนม.ค. 65 จนส่งผลกระทบต่อประชาชน ทำให้ภาวะเงินเฟ้อในเดือนม.ค. 65 บวก 3.23% อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับ 19 ประเทศทั่วโลก ที่ประกาศเงินเฟ้อในเดือนม.ค. 65 ก็มีถึง 15 ประเทศที่สูงกว่าไทย

ทั้งนี้ รัฐบาลก้ได้มีมาตรการในการแก้ปัญหาสินค้าราคาแพงทั้งการตรึงราคาสินค้า ไม่ให้ขึ้นราคา สำหรับเรื่องไข่ที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นในวันที่ 9 ม.ค. 65 กระทรวงพาณิชย์สามารถแก้ปัญหาภายใน 3 วัน ส่วนเรื่องไก่ที่ประชาชนเป็นห่วงว่าเมื่อหมูราคาแพง ราคาไก่ก็จะเพิ่มขึ้นนั้น ราคาไก่ก็ไม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ประกาศให้ราคาไก่เป็นสินค้าควบคุมทันทีที่ราคาหมูแพง ไม่ให้เกิดการฉวยโอกาส

อย่างไรก็ตาม สำหรับราคาน้ำมันปาล์มขวดมีราคาสูงขึ้นจริง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาราคาผลปาล์มดิบ ทำให้ราคาปาล์มสูงขึ้นแตะ 9-12 บาท/กิโลกรัม ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดจากความบังเอิญหรือตลาดโลก แต่เกิดจากกระทรวงพาณิชย์ เช่น ห้ามนำเข้าน้ำมันปาล์มทางบก ส่งเสริมการส่งออก พาณิชย์ร่วมกับกระทรวงพลังงานกำหนด B7 B10 เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็มาจากที่ประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซียประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน จึงทำให้ไทยได้ประโยชน์จากส่วนนี้ด้วย

ดังนั้น ราคาผลปาล์มที่เพิ่มสูงขึ้น จึงส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตน้ำมันปาล์มสูงขึ้น และราคาน้ำมันปาล์ขวดก็สูงขึ้นตาม อย่างไรก็ดี ยังสามารถกำกับราคาได้อยู่ ซึ่งปกติแล้วหากราคาผลปาล์มอยู่ที่ 11 บาท/กิโลกรัม ราคาน้ำมันปาล์มขวดก็ต้องขึ้นไปถึง 72.50 บาทแล้ว แต่พาณิชย์ยังสามารถล็อกไว้ที่ 59-62 บาทต่อขวดได้อยู่ หากกดราคาน้ำมันปาล์มขวดให้ต่ำกว่านี้ประมาณ 55 บาท/ขวด ผู้ประกอบการก็จะไม่มีกำไร และขาดทุนไปเรื่อยๆ สุดท้ายปัญหาใหม่ก็จะตามมา คือ ผู้ประกอบการหยุดผลิต น้ำมันปาล์มขาดตลาด ดังนั้นจึงต้องรักษาสมดุลให้กับทุกฝ่าย

“ประเทศไทยราคาสินค้าไม่สูงมาก เงินเฟ้อไม่สูงมาก ราคาสัตว์น้ำ และราคาผักก็ปรับลงมากว่า 40% ในช่วงเทศกาลตรุษจีนยกเว้นสินค้าบางตัวที่ต้องยอมรับความจริงว่าแพงก็คือ หมู” นายจุรินทร์ กล่าว สำหรับเรื่องราคาหมูที่มีราคาแพง ซึ่งสาเหตุที่หมูราคาแพงมาจากโรคระบาด ซึ่งในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมานี้ ไทยสูญเสียแม่พันธุ์หมูไป 30-40% แต่ปี 65 คาดว่าปริมาณหมูที่เข้าสู่ตลาดจะอยู่ที่ 13-14 ล้านตัว ดังนั้นการที่หมูราคาสูงขึ้นนั้นถือเป็นกลไกทางตลาด นอกจากนี้ ในช่วง 3-4 เดือนก่อน เกษตรกรบางส่วนพักเล้า พักเลี้ยง เนื่องจากไม่คุ้มทุน ส่งผลให้ต้นทุนเลี้ยงหมูเพิ่มขึ้น 14% ซึ่งทำให้ราคาสุกรมีชีวิตเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนทางแก้ของรัฐบาล เมื่อรู้ว่าเป็นกลไกตลาด หมูขาดตลาด สิ่งที่แก้ตรงๆ คือ เร่งผลิตหมูสู่ระบบ เข้าสู่ภาวะสมดุลเร็วที่สุด ซึ่งต้องใช้เวลา 5-8 เดือน ถึง 1 ปี ด้านกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ ระบุว่าจะเร่งผลิตหมูให้เร็วที่สุด 300,000 ตัว ด้านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กระทรวงการคลัง ก็ได้แจ้งในที่ประชุม จัดเงินกู้ในเงื่อนไขพิเศษ ให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยที่เลิกไปหันกลับมาเลี้ยงหมูอีก ด้วยวงเงิน 30,000 ล้านบาท

กรณีราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำนั้น ในภาพรวมขณะนี้ดีขึ้นเกือบทุกชนิด เช่น ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ในขณะที่ราคาผลไม้ก็ราคาดี เช่น ทุเรียน มังคุด มะพร้าว ลองกอง เป็นต้น หากพืชทางการเกษตรใดราคาตกลง ก็ยังมีการประกันรายได้เกษตรกรมาช่วย ซึ่งประกันรายได้เอื้อเกษตรกรโดยตรง ไม่ได้เอื้อนายทุน ถ้าราคาสินค้าตก ก็โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร

ส่วนเรื่องปุ๋ยราคาแพง นายจุรินทร์ ยอมรับว่าราคาแพงจริง เนื่องจากปัญหาราคาน้ำมันแพง ซึ่งประสบปัญหากันทั่วโลก ประกอบกับน้ำมันก็เป็นต้นทุนการขนส่งของปุ๋ยด้วย ราคาปุ๋ยที่แพงตั้งแต่ช่วงปลายปี 64 ถึงปี 65 ซึ่งเกิดจากประเทศผู้ผลิตโดยเฉพาะประเทศจีนเก็บปุ๋ยไว้ใช้ในประเทศ และลดการผลิตก่อนเข้าโอลิมปิกฤดูหนาว ด้านประเทศอินเดียก็ประมูลปุ๋ยล็อตใหญ่ จึงมีปุ๋ยปริมาณมากไปกองอยู่ที่อินเดีย ทำให้ตลาดขาดสินค้า และส่งผลให้ราคาเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์พยายามตรึงราคากับผู้นำเข้าปุ๋ย 19 บริษัท ไม่ให้ปรับราคาขึ้นไป และกดราคาในระดับที่ไม่ให้ผู้นำเข้าต้องเดือดร้อนมากนัก เพราะหากผู้นำเข้าขาดทุน ไม่นำเข้าปุ๋ย ก็จะเกิดปัญหาปุ๋ยขาดแคลน ขณะเดียวกันยังได้ตรึงราคาปุ๋ยเคมีในปี 64 ทั้งนี้ แนวโน้มราคาปุ๋ยทั่วโลกอาจปรับลดลงมา เพราะประเทศจีนจะเริ่มผลิตปุ๋ยมากขึ้นหลังช่วงโอลิมปิดฤดูหนาว และประเทศอินเดียประมูลปุ๋ยในราคาต่ำในปีนี้ ซึ่งจะชี้นำราคาปุ๋ยในตลาด ประกอบกับหลายประเทศชะลอการซื้อปุ๋ยเนื่องจากมีราคาแพง