จุฬาฯ เตรียมยื่น อย.ขอขึ้นทะเบียน “วัคซีน ChulaCov-19” คาดพร้อมใช้กลางปี 65 กระตุ้นภูมิคุ้มกันใกล้ไฟเซอร์และป้องกันได้ถึง 3 สายพันธุ์

464
0
Share:
จุฬาฯ เตรียมยื่น อย.ขอขึ้นทะเบียน "วัคซีน ChulaCov-19" คาดพร้อมใช้กลางปี 65 กระตุ้นภูมิคุ้มกันใกล้ไฟเซอร์และป้องกันได้ถึง 3 สายพันธุ์

นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ความคืบหน้าของวัคซีน ChulaCov-19 ชนิด mRNA โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กำลังจะเข้าสู่การทดสอบเฟส 3 ซึ่งได้มีการผลิตวัคซีนในไทย บรรจุขวด และรอตรวจประกันคุณภาพ

โดยหากเป็นไปตามแผน จะสามารถเปิดรับอาสาสมัครประมาณก่อนสิ้นปี 64 เริ่มฉีดวัคซีนช่วงต้นปี 65 ถึงประมาณเดือนมี.ค. 65 มีการวิเคราะห์ข้อมูลช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. 65 และจะมีการรวบรวมข้อมูล เพื่อส่งเอกสารขึ้นทะเบียนในภาวะฉุกเฉินกับองค์การอาหารและยา (อย.) ประมาณช่วงกลางปีและหากสามารถขึ้นทะเบียนสำเร็จ จะทำการทดสอบระยะที่ 4 ติดตามอาสาสมัครคนไทยเพิ่มอีก 30,000 คน เพื่อรวบรวมข้อมูลด้านความปลอดภัย และประสิทธิผลของวัคซีน

และในช่วงต้นปี 65 จะทำการวิจัยวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็ม 3 และเข็ม 4 เพื่อรองรับประชากรในประเทศที่ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนไปแล้ว พร้อมทั้งเตรียมทดสอบในอาสาสมัครที่อายุน้อยลง โดยได้มีการเตรียมความพร้อมวัคซีนรุ่น 2 และรุ่น 3 โดยขณะนี้ได้มีการทดลองในหนูแล้ว สำหรับผลการทดสอบในมนุษย์เฟส 2 พบว่าวัคซีน ChulaCov-19 สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดแอนตี้บอดี้ได้สูงเทียบกับวัคซีนชนิด mRNA และการกระตุ้นภูมิจะสูงขึ้นหากฉีดในปริมาณมาก

ในขณะเดียวกันสามารถกระตุ้นทีเซลล์ได้สูงกว่าวัคซีนไฟเซอร์ถึง 2 เท่า และสามารถป้องกันสายพันธุ์ได้หลากหลายทั้งอัลฟา เบตา และเดลตา โดยผลข้างเคียงหลังการฉีดเข็มที่ 2 พบบางรายมีอาการไข้เล็กน้อย และยังไม่พบผลข้างเคียงรุนแรงอย่างอาการลิ่มเลือด

ทางด้าน ผศ.ภญ.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เปิดเผยความคืบหน้าของวัคซีนจุฬาฯ – ใบยา ชนิดโปรตีนซับยูนิตสกัดจากใบพืชชนิดแรกของไทยว่า ได้มีการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ในเดือน ก.ย. 64 และอยู่ในช่วงการติดตามความปลอดภัย เบื้องต้นพบว่ามีความปลอดภัย และไม่มีอาการรุนแรงใดๆ ยังไม่มีรายงานเรื่องอาการลิ่มเลือด

ขณะนี้เริ่มเปิดรับอาสาสมัครอายุ 61-75 ปี เพื่อทำการทดสอบวัคซีนในเดือน ธ.ค. 64 และในเดือนพ.ย.นี้ ได้มีการผลิตวัคซีนรุ่น 2 และเตรียมที่จะทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ช่วงเดือน ม.ค. 65 และคาดว่าเดือนก.พ. 65 จะสามารถเลือกวัคซีนที่มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพดีที่สุดไปทำการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 ต่อไป ในขณะเดียวกัน คาดว่าในปี 65 จะสามารถผลิตวัคซีนใบยาอีกตัวออกมาได้

นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วัคซีน ChulaCov-19 ชนิด mRNA และวัคซีนจุฬาฯ – ใบยา ชนิดโปรตีนซับยูนิตสกัดจากใบพืช เพื่อให้ประเทศไทยไม่ต้องพึ่งพาแต่การนำเข้าวัคซีนอีกต่อไป พร้อมทั้งเป็นวัคซีนที่จะสามารถเป็นความหวังของคนทั่วโลกได้ต่อไป