ชาวมาเลเซียติดโควิด-19 กว่า 11,000 คน มากสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่

395
0
Share:

กระทรวงสาธารณสุข มาเลเซีย เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดในมาเลเซียเมื่อ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาถึงเมื่อวานนี้ 13 กรกฎาคม 2564 พบว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 11,079 ราย ทำสถิติติดเชื้อรายวันมากเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ หรือนับตั้งแต่เกิดการระบาดในประเทศมาเลเซียเป็นต้นมา นอกจากนี้ยังสร้างสถิติติดเชื้อรายวันมากกว่าวันละ 11,000 รายเป็นวันแรกอีกด้วย สำหรับสถิติติดเชื้อรายวันมากที่สุดเป็นประวัติการณ์เดิมเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ 10 กรกฎาคม 2564 มีผู้ติดเชื้อในวันนั้นจำนวน 9,180 ราย ส่งผลให้ยอดรวมติดสะสมเป็น 855,949 ราย อยู่อันดับที่ 32 ของโลก และเป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียน ด้านผู้เสียชีวิตรายใหม่เพิ่มขึ้น 125 ราย ส่งผลต่อยอดเสียชีวิตสะสมเป็น 6,385 ราย อยู่อันดับ 3 ของอาเซียน

สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในมาเลเซีย เผชิญกับความรุนแรงของวิกฤตมากขึ้นอีก เมื่อตรวจพบจุดฉีดวัคซีน 1 แห่ง ตั้งอยู่บริเวณนอกกรุงกัวลาลัมเปอร์ราว 25 กม. มีเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครติดโรคระบาดโควิด-19 รวมทั้งหมด 204 รายจากเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 453 ราย ทำให้ต้องสั่งปิดจุดฉีดวัคซีนแห่งนี้ทันที เพื่อทำความสะอาดฆ่าเชื้อ และสั่งเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ทั้งชุด สำหรับผู้รับการฉีดวัคซีนระหว่างวันที่ 9-12 ก.ค. 2021 ทางการให้คำแนะนำว่าควรกักตัวเองอยู่ในบ้าน 10 วัน โดยปกติจุดฉีดวัคซีนแห่งนี้สามารถรองรับได้ 3,000 โดสต่อวัน ดังนั้น คาดว่าอาจมีประชาชนประมาณ 12,000 คนที่ได้รับผลกระทบ

สำหรับพื้นที่ที่พบการระบาดสูงสุดในรอบ 24 ชั่วโมงผ่านมา คือรัฐสลังงอร์ มีจำนวน 5,263 ราย อันดับ 2 กัวลาลัมเปอร์ 1,521 ราย ขณะที่อัตราการติดเชื้อในมาเลเซียพุ่งเป็น 1.09 นั่นหมายถึงมีโอกาสติดเชื้อจาก 1 สู่ 1 คนได้อย่างง่ายดาย

มาเลเซียเผชิญการระบาดรอบที่ 2 มาตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2021 โดยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันขึ้นทำสถิติสูงสุดในวันที่ 29 พฤษภาคม 2564 จำนวน 9,020 คน ก่อนจะลดลงต่อเนื่องมาถึงช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2564 ตัวเลขผู้ติดเชื้อลงมาที่ระดับ 5 พันกว่าคนต่อวัน และย้อนกลับพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งเป็นรอบที่ 3 ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 85 คนต่อวันในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางรัฐบาลมาเลเซียมีคำสั่งปิดล็อกดาวน์ยาวนานมาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

สถานการณ์การระบาดอย่างรุนแรงในมาเลเซียทั้งสัปดาห์นี้ ส่งผลให้เกิดภาวะระบบสาธารณสุขถึงขั้นวิกฤตในหลายรัฐ โดยเฉพาะรัฐสลังงอร์ พบว่าโรงพยาบาลจำนวนมากไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากต้องนอนตามที่นั่งหน้าเคาเตอร์ในบริเวณล็อบบี้ของโรงพยาบาล รวมถึงมีผู้ป่วยนั่ง และนอนด้านนอกโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก ขณะที่โรงพยาบาลหลายแห่งในเมืองกลัง (Klang) จำเป็นต้องแบ่งปันถังก๊าซออกซิเจน เนื่องจากความต้องการใช้ออกซิเจนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากตากปริมาณของผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นไอซียู

ขณะที่ รัฐบาลมาเลเซีย เปิดเผยว่า กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้จัดส่งวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ยี่ห้อไฟเซอร์ จำนวน 1 ล้านโดสซึ่งบริจาคโดยรัฐบาลสหรัฐในโครงการบริจาควัคซีน 80 ล้านโดสมาถึงกรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อวันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม 2564 มาเลเซียได้รับการส่งมอบวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ยี่ห้อแอสตร้าเซเนก้าจำนวน 1 ล้านโดสตามโครงการบริจาควัคซีนโดยรัฐบาลญี่ปุ่นผ่านกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น มาเลเซียจึงได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ผ่านโครงการบริจาควัคซีนจากทั้งสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นรวมทั้งสิ้น 2 ล้านโดสภายใน 5 วันที่ผ่านมา

ทั้งนี้ รัฐบาลมาเลเซียประกาศมาตรการปิดล็อกประเทศมาเป็นครั้งที่ 3 ในปัจจุบันนี้ โดยครั้งที่ 3 ประกาศเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา สำหรับการฉีดวัคซีนนั้น มาเลเซียยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ก้าวหน้าในการฉีดวัคซีนมากที่สุดประเทศหนึ่งในกลุ่มอาเซียน ข้อมูลเมื่อวันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่า มีประชากรเกือบ 11.8 ล้านคนได้รับการฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส คิดเป็น 24.8% ของประชากรทั้งหมด 32 ล้านคน และรับครบ 2 โดสแล้วมีจำนวน 3.68 ล้านคน หรือราว 11.3% ของประชากรทั้งหมด วัคซีนที่มาเลเซียใช้ฉีดให้ประชาชนทั่วไป ได้แก่ ซิโนแวค ไฟเซอร์ และแอสตร้าเซเนก้า