ชี้แจงตัดงบบัตรทอง 2,400 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ยันไม่กระทบประชาชน

924
0
Share:

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวถึงกรณีการตัดงบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) จำนวน 2,400 ล้านบาท และงบสาธารณสุข 900 กว่าล้านบาท นำไปตั้งเป็นงบสำรองฉุกเฉิน แก้ไขปัญหา ช่วยเหลือเยียวยา และบรรเทาผลกระทบ จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า จากภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่ต้องการแพทย์ พยาบาล บุคลากรต่างๆ มากขึ้น จึงมีการบรรจุข้าราชการ สธ.เพิ่มขึ้น 45,684 ตำแหน่ง ซึ่งเงินเดือนที่ต้องจ่ายนั้นไปรวมอยู่ในงบบัตรทอง ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 46 (2)
.
ดังนั้น ช่วงระหว่างปีที่มีการบรรจุข้าราชการมากขึ้น สปสช.ก็ต้องนำงบบัตรทอง 2,400 ล้านบาท ส่งคืนให้สำนักงบประมาณ เพื่อนำไปจ่ายเงินเดือน ซึ่งเป็นการดำเนินการกฎหมายที่กำหนดไว้
.
โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)อาจมองเห็นว่า ไปเอาเงินของเขามา แต่จริงๆ เป็นเงินที่ต้องจ่ายตามกฎหมาย เพราะกฎหมายบังคับจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ก็ต้องเอามาจ่าย แต่เรามีการหารือกับทางรองเลขาธิการ สปสช.แล้วว่า ถ้าที่ต้องจ่ายเงินเดือนไม่พอ หรือเงินที่ต้องใช้ดูแลประชาชนไม่พอ ก็สามารถของบกลางได้ ซึ่ง สปสช.ก็ขอทุกปี ไม่ใช่ไม่เคยขอ อย่างปี 2561 ขอเพิ่ม 5,186 ล้านบาท ปี 2562 ขอเพิ่ม 5 พันล้านบาท
.
ส่วนปี 2563 นายกฯ ก็นำงบ 5 พันล้านบาทมาใส่ในงบปกติเพิ่มให้แล้ว และในช่วงโรคโควิด-19 รัฐบาลยังให้งบสนับสนุน สธ.และสปสช.อีก โดยรอบแรกให้ 1,233 ล้านบาท ใช้ในการดำเนินการหาผู้ป่วย ตรวจแล็บ จ่ายค่าเบี้ยเสี่ยงภัยบุคลากร การทำที่กักกันผู้ป่วย รอบที่ 2 ให้ 5,488 ล้านบาท ในจำนวนนี้ สปสช.ได้ไป 3,260 ล้านบาท ซึ่งหากเทียบแล้ว สปสช.ก็ยังได้งบเพิ่มขึ้นอยู่
.
เรื่องของการการรักษาพยาบาลผู้ป่วยไม่ต้องกังวลว่าจะได้รับผลกระทบ ยังได้รับการดูแลเหมือนเดิม ส่วนหาก สปสช.งบไม่พอก็สมารถของงบกลางเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งรัฐบาลยังเตรียมงบประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาทสำหรับการดูแลผู้ป่วยช่วงโควิด-19 นี้ และการบรรจุลูกจ้าง พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ที่ใช้เงินบำรุง รพ.ในการจ่ายค่าจ้างและเงินเดือน เมื่อบรรจุเป็นข้าราชการ ก็ทำให้ประหยัดเงินบำรุงส่วนนี้ไปได้ รพ.มีเงินบำรุงเหลือ เอามาดูแลประชาชนได้มากกว่าเดิม
.
แต่ยอมรับว่าเงินเดือนบุคลากรที่ไปรวมอยู่ในงบบัตรทอง อาจทำให้เกิดความสับสน ว่าอะไรเป็นงบเงินเดือนหรืองบบริการ ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยมีการเรียกร้องให้มีการแยกเงินเดือนออกมากลับมาอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขเหมือนเดิม ทั้งนี้ เมื่อกฎหมายกำหนดไว้เช่นนี้มองดูแล้วไม่สบายใจ สปสช.ก็สามารถเสนอให้แยกเงินเดือนข้าราชการออกมาเหมือนกระทรวงอื่น เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม ทั้งนี้ หากจะมีการแยกเงินเดือนกลับมา สธ. ก็จะต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในส่วนที่เกี่ยวกับเงินเดือนนี้ แต่อยู่ที่ผู้ใหญ่พิจารณา
.
สำหรับงบของ สธ.ที่ส่งคืนให้รัฐบาล เป็นงบลงทุน เช่น ใช้ก่อสร้าง หรือจัดซื้อครุภัณฑ์ต่างๆ ที่ปีนี้ใช้ไม่ทัน ไม่ได้ก่อสร้าง หรือจัดซื้อไม่ทัน มีความล่าช้าจากสถานการณ์โควิด-19 ก็จะต้องส่งคืนไปตามมติ ครม. แต่งบที่ใช้ไม่ทันเหล่านี้จะเป็นในส่วนของที่ยังไม่มีการประกาศ หรือประกาศไม่ทัน ยังไม่ได้จัดซื้อจัดจ้าง หรือยังไม่มีใครมายื่นขาย คือเป็นส่วนที่ชะลอได้ ซึ่งในช่วงปลายเดือนจะมีการพิจารณาอีกรอบว่า หากยังมีส่วนไหนที่ยังไม่สามารถใช้จ่ายได้ก็จะนำส่งคืนเพิ่มอีก แต่จะไม่นำส่งคืนงบที่มีสัญญาแล้ว หรือที่เป็นงบผูกพัน ก็ให้ดำเนินการต่อ เรียกว่าเป็นงบเหลือจ่าย ไม่มีผลกระทบกับปกติ ขอให้สบายใจได้
.
นพ.สุขุม กล่าวว่า ส่วนการบรรจุข้าราชการใหม่นั้นจะทยอยบรรจุ ซึ่งกลุ่มไหนที่บรรจุได้เลยก็ดำเนินการ แต่บางตำแหน่งตามกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่ต้องสอบก็ต้องสอบ