ช่วยตรึงราคาต่อ! กบง.สั่งตรึงราคาก๊าซหุงต้ม 480 บาท/ถัง 15 กก. ต่อไปจนถึง 31 ม.ค.66

237
0
Share:
ช่วยตรึงราคาต่อ! กบง. สั่ง ตรึงราคา ก๊าซหุงต้ม 480 บาท/ถัง 15 กก. ต่อไปจนถึง 31 ม.ค.66

ในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้พิจารณาแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) โดยเห็นชอบให้คงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นแอลพีจีที่ 19.9833 บาท/กก.(ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยมีกรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีกแอลพีจีอยู่ที่ประมาณ 408 บาท/ถัง 15 กก. ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1-31 ม.ค.2566 ช่วยลดผลกระทบค่าครองชีพของประชาชนแต่จะทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีภาระเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวดฃกันยังมีมติเห็นชอบให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กำหนดราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์(เอ็นจีวี) สำหรับรถยนต์ทั่วไปให้ปรับราคาขายปลีกเอ็นจีวีขึ้น 1 บาท/กิโลกรัม(กก.) เป็น 17.59 บาท/กก. จาก 16.59 บาท/กก. ส่วนรถแท็กซี่ในโครงการเอ็นจีวีเพื่อลมหายใจเดียวกัน ของ ปตท. ให้คงราคาขายปลีกเอ็นจีวีไว้ที่ 13.62 บาท/กก. ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค.2565-15 มี.ค.2566 คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือของ ปตท. ประมาณ 2,682 ล้านบาท แบ่งเป็นรถยนต์ทั่วไป 2,407 ล้านบาท และรถแท็กซี่ 275 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชนและช่วยลดภาระกองทุนลง โดยขอความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมัน ให้คงค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลหมุนเร็วบี 7 และดีเซลหมุนเร็ว บี20 ไม่เกิน 1.40 บาท/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค.2566 และมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ออกประกาศ ธพ. เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพ ของน้ำมันดีเซล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. 2566 ให้สอดคล้องกับมาตรการบรรเทาผลกระทบ ต่อไป

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาแอลพีจี ตลาดโลกในปัจจุบันยังคงผันผวน โดย ณ วันที่ 29 พ.ย.2565 อยู่ที่ 633.60 เหรียญสหรัฐ/ตัน เทียบได้กับราคาขายปลีกแอลพีจีที่ประมาณ 480 บาท/ถัง 15/กก. ขณะที่ราคาขายปลีกในประเทศอยู่ที่ 408 บาท/ถัง 15 กก. ส่งผลต่อสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงบัญชีแอลพีจีติดลบ 1,352 ล้านบาท/เดือน และทำให้ฐานะกองทุนบัญชีแอลพีจีติดลบ 43,883 ล้านบาท เข้าใกล้กรอบวงเงินกองทุนในส่วนของบัญชีแอลพีจีที่ให้ติดลบได้ไม่เกิน 45,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กบง.ยังมีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาการยกเว้นการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเฉพาะปริมาณ ที่จำหน่ายเพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและขายกระแสไฟฟ้าทั้งหมดให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2566 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการยกเลิกมาตรการการใช้น้ำมันดีเซล น้ำมันเตาทดแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า ในช่วงสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน และมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ออกประกาศ ธพ. ว่าด้วยกำหนดชนิดและอัตรา หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคำนวณปริมาณสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง แจ้งผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 ให้ยื่นขอความเห็นชอบเปลี่ยนแปลงปริมาณการค้าตามขั้นตอนต่อไป ทั้งยังมอบหมายให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน ติดตามแผนบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน ในช่วงเดือนม.ค.-เม.ย.2566 และรายงานต่อ กบง. อีกครั้ง