ซีอีโอธนาคารยักษ์ใหญ่สหรัฐ ชี้ขณะนี้อาจเป็นเวลาสุดอันตรายที่โลกเคยเผชิญในรอบหลายสิบปี

234
0
Share:
ซีอีโอธนาคารยักษ์ใหญ่สหรัฐ ชี้ขณะนี้อาจเป็น เวลา สุด อันตราย ที่โลกเคยเผชิญในรอบหลายสิบปี

นายเจมี ดิม่อน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ ธนาคารเจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค ซึ่งเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ในสหรัฐอเมริกา และใหญ่อันดับ 1 ของโลก กล่าวว่า เวลาในขณะนี้ อาจเป็นห้วงเวลาที่อันตรายที่สุดที่ทั่วโลกเคยเผชิญมาช่วงหลายสิบปีผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์ขัดแย้ง และรุนแรงต่างๆที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสงครามยืดเยื้อระหว่างรัสเซียกับยูเครน การสู้รบรุนแรงในรอบ 50 ปีระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสติดอาวุธ อาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างขยายตัวออกไปกระทบตลาดอาหาร และพลังงาน กระทบต่อการค้าทั่วโลก และความสัมพันธ์การเมืองภูมิภาคในโลก

ขณะนี้ บรรดาผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ทั่วสหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในสภาพปีนป่ายบนความกังวลของเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคาร ซึ่งหมายถึง สภาพตลาดจะสามารถมีความแข็งแกร่งอย่างไรที่จะผ่านพ้นสถานการณ์ความไม่แน่นอนสูงมากรวมข่าวร้ายมากมาย อย่างไรก็ตาม ในฐานะเป็นหนึ่งในธุรกิจธนาคาร ควรจะต้องผ่านพ้นให้ได้ นั่นคืองานของนักบริหารที่จะต้องเตรียมตัวให้ดีสำหรับผลที่จะเกิดขึ้นจากสิ่งหรือเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดการณ์มาก่อน จากประสบการณ์ จะพบว่า บรรดาบริษัทต่างๆในตลาดหุ้นนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มักจะให้น้ำหนักกับสถานการณ์ หรือเงื่อนไขกับสภาพปัจจุบันมากกว่าที่จะเตรียมพร้อมกับผลลัพธ์อะไรบ้างที่จะเกิดตามมา

ซีอีโอ ธนาคารเจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค กล่าวต่อไปว่า เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเผชิญ 2 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ภาวะการจ้างงานที่ตึงตัวมาก และสถานะหนี้สาธารณะของรัฐบาลที่สูง ทั้ง 2 ปัจจัยจะทำให้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาจะอยู่ในระดับสูงต่อไป และนั่นหมายถึงอัคราดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางจะต้องปรับสูงขึ้นต่อไป

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา นายเจมี ดิม่อน ซีอีโอ ธนาคารเจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค กล่าวว่า ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด อาจจะยังคงอยู่ห่างไกลจากการยุติปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นเพื่อแก้ปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง จากมุมมองส่วนตัวกับแนวโน้มดอกเบี้ยระยะสั้นของเฟดนั้น เฟดอาจจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวอีก 1.5% จากอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน ทำให้ดอกเบี้ยดังกล่าวจะได้เห็นสูงสุดที่ระดับ 7%

หากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นแตะที่ 7% นั่นหมายถึงเป็นอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่สูงสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 1990 หรือสูงสุดในรอบ 34 ปีผ่านมา ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของเฟดปัจจุบันอยู่ที่ระหว่าง 5.25-5.50% ซึ่งทำสถิติสูงสุดในรอบ 22 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ ธนาคารเจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค กล่าวยอมรับว่า ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของเฟดที่อาจจะสูงถึง 7% ได้อย่างชัดเจน เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาอาจเผชิญกับการชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือ Soft Landing หรืออาจจะเผชิญภาวะถดถอยปานกลาง หรืออาจเผชิญกับภาวะถดถอยหนัก นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวที่อาจสูงถึง 7% นั้น จะฉุดกำลังการใช้จ่ายของผู้บริโภค และฉุดรั้งการลงทุนทางธุรกิจ ในที่สุดนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจขยายตัวที่ชะลอตัวลง