ซีไอเอ็มบี ไทยมอง’ทรัมป์’ชนะเลือกตั้งปธน.สหรัฐ ไทยจะได้ประโยชน์มากกว่า

667
0
Share:

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัยประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ดีขึ้น คาดว่าหดตัว 7.5% จากเดิมคาดติดลบ 8.9% หลังเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 หดตัวน้อยกว่าที่คาดไว้ โดยติดลบ 12.2% และ ไตรมาส 3 คาดติดลบ 8% ส่วนไตรมาส 4 คาดจะติดลบ 0.5-0.8% โดยภาครัฐ ภาคเอกชน ต้องเร่งลงทุน โดยเฉพาะโครงการ EEC และ โครงสร้างพื้นฐาน
.
เพราะสิ่งที่น่าห่วง คือ ภาพการฟื้นตัวอาจไม่ต่อเนื่อง เพราะเรามีการล็อคดาวน์ กระทบส่งออกเข้าไปอีก การบริโภคในประเทศ กำลังซื้อของคนในประเทศไม่ต่อเนื่อง การเมืองมีผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยจะเห็นการฟื้นตัวเศรษฐกิจได้ในไตรมาส 1/64 ส่งผลให้ทั้งปี 64 จีดีพีขยายตัวได้ 2.8%
.
ทั้งนี้ประเมินว่า ต้องใช้เวลาอีก 3 ปี ที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง เนื่องจากขณะนี้การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว จากการเผชิญการแพร่ระบาดโควิด-19 เชื่อว่าหากมีวัคซีน และ ควบคุมโควิด-19 ได้ จะทำให้นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาในประเทศได้ ซึ่งประเมินกลางปี 64 จะมีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ประเทศ 6 ล้านคน
.
ส่วนกรณีการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งพรรครีพับลิกัน กับ โจ ไบเดน แห่งพรรคเดโมแครต มีนัยต่อการวางยุทธศาสตร์สหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก การวางตัวระหว่างสหรัฐฯกับจีน และ จะมีผลต่ออนาคตเศรษฐกิจไทย
.
สำนักวิจัยฯ ประเมินผลกระทบต่อไทยหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯพบว่า หากทรัมป์ชนะน่าจะเป็นผลบวกต่อไทย เนื่องจากสงครามการค้าใกล้จบ , นโยบายของทรัมป์ส่งผลให้บริษัทจีนย้ายฐานซึ่งทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ แต่ยังกังวลห่วงโซ่อุปทานกับจีนจึงยังต้องสานต่อ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership: ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ประกอบด้วย อาเซียน+6 แต่อินเดียยังไม่เข้าร่วม)
.
แต่หากไบเดนชนะ ไทยจะได้ประโยชน์หากเข้าร่วม CPTPP เนื่องจากไบเดนจะอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรในการโอบล้อมจีน , การเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯ และ จีนไม่ได้ลดทอนความเข้มข้นลง , ไทยอาจไม่ได้ประโยชน์จากย้ายฐานการผลิตหากไม่ร่วม CPTPP ขณะที่ไทยยังต้องเดินหน้าสัมพันธ์การค้ากับจีนผ่าน RCEP
.
อย่างไรก็ตามต้องจับตา การขึ้นเป็นผู้นำโลกของจีนแทนสหรัฐฯ (China Number One) โดยกระแสชาตินิยมในสหรัฐฯ กำลังผลักดันให้จีนก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกการค้าเสรีแทน และสหรัฐฯ ต้องหาทางอยู่ร่วมกับจีนให้ได้ โดยอาจต้องยอมรับว่าจีน คือ ผู้นำเศรษฐกิจโลกคนต่อไป แต่สหรัฐฯ จะยอมรับได้หรือไม่
.
ดังนั้นประเทศไทยต้องเปิดรับทั้งคู่ และ อยู่ร่วมกับสหรัฐฯ และ จีนให้ได้ ไม่ควรเลือกข้าง เพราะวันนี้ไทยต้องค้าขายกับจีน แม้จีนยังเป็นมหาอำนาจเบอร์ 2 แต่เรื่องการค้าจีนเป็นเบอร์ 1 ของโลก ไทยจึงต้องเพิ่มการเป็นห่วงโซ่อุปทานการผลิตกับจีนให้มากขึ้น เปิดรับการย้ายฐานจากจีนให้เข้ามาบ้านเราให้มากขึ้น เพื่อหาทางส่งออกไปสหรัฐฯ และ ส่งออกไปประเทศอื่น เชื่อว่าไทย และ อาเซียนยังสามารถอยู่รอดได้ภายใต้ความขัดแย้งตรงนี้ แต่หากบริหารไม่ดี กระแสโลกาภิวัตน์ตีกลับจะมีผลให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพได้