ซีไอเอ็มบี ไทยมองปี 64 กลุ่มท่องเที่ยวยังเสี่ยง เงินร้อนจะดันบาทแข็งค่า

514
0
Share:

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย หรือ CIMBT เปิดเผยว่า ในปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 4.1% ดีขึ้นจากที่คาดไว้ก่อนหน้าที่ 2.8% ส่วนปีนี้คาดจีดีพีหดตัว 6.6% ดีขึ้นกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ที่หดตัว 7.5% การปรับมุมมองเชิงบวกมากขึ้นมาจากตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ออกมาดีกว่าคาดและเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นได้เร็วจากมาตรการกระตุ้นในแต่ละประเทศ
.
โดยเศรษฐกิจไทยปี 2564 มีแนวโน้มฟื้นตัวจากภาคการส่งออกตามการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังของประธานาธิบดีไบเดนที่เน้นเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือนระดับล่าง และนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องทั้งอัตราดอกเบี้ยต่ำลากยาว และมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง
.
ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ น่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ แม้จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อยู่เป็นระยะๆ นอกจากนี้ เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น จีน ญี่ปุ่น อาเซียน และยุโรป ก็จะมีการเติบโตที่เร่งแรงขึ้นจากปีนี้ ตามการฟื้นตัวของการส่งออก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ และเมื่อการส่งออกสินค้าฟื้นตัว ภาคการผลิตก็จะเร่งขึ้น แม้การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันออกหรือการลงทุนภาคเอกชนใหม่ๆ อาจล่าช้าตามการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นนักลงทุน โดยเฉพาะจากนักลงทุนต่างชาติ
.
แต่จากกำลังการผลิตที่ขยับขึ้นจะทำให้เกิดการจ้างงาน การขยายชั่วโมงการทำงาน ส่งผลให้รายได้ของครัวเรือนและกำลังซื้อโดยรวมดีขึ้น ซึ่งสอดรับกับรายได้ภาคเกษตรปีหน้าที่มีทิศทางสดใสขึ้นตามปริมาณผลผลิตที่น่าจะฟื้นตัวดีขึ้นหลังเผชิญปัญหาภัยแล้งในปีนี้ และน่าจะส่งเสริมให้การบริโภคสินค้ามีการเติบโตที่ดีขึ้นและมีการกระจายตัวจากสินค้าไม่คงทนในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ไปสู่สินค้าคงทนโดยเฉพาะรถยนต์ได้ในช่วงครึ่งหลังของปีหน้าหลังการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีความชัดเจนและสนับสนุนให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคขยับสูงขึ้น
.
ในส่วนแรงสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐน่าจะยังมีต่อเนื่อง ทั้งจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงการลงทุนภาครัฐที่อาจขยับเป็นโครงการจ้างงานในพื้นที่ชนบทเพื่อให้เกิดรายได้ในท้องที่ได้ดีขึ้น ในส่วนมาตรการทางการเงินทางธปท.ไม่น่าจะลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม แต่น่าจะมีการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมมาช่วยสนับสนุนกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กเป็นมาตรการที่ตรงจุดแทน และอาจผ่อนคลายเกณฑ์ต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้สินเชื่อเติบโตได้ดีขึ้น
.
ด้านปัจจัยเสี่ยงของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยน่าจะอยู่ที่ภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก เพราะกว่าที่จะสามารถเปิดประเทศให้ต่างชาติเดินทางได้สะดวกมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ธุรกิจกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร การขนส่ง และภาคการค้าปลีกต่างยังประสบปัญหาขาดรายได้ และอาจทำให้การจ้างงาน การใช้จ่ายของคนในกลุ่มนี้ยังฟื้นตัวช้า โดยสรุปมองว่าเมื่อประเทศสำคัญเริ่มเปิดกิจกกรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น แม้โควิด-19 ยังคงมีการระบาดอยู่บ้าง แต่ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ประกอบกับฐานที่ต่ำในปีก่อน เศรษฐกิจโลกปีหน้าน่าจะฟื้นตัวได้ดี ซึ่งจะสนับสนุนการส่งออกสินค้าของไทยและเป็นปัจจัยผลักดันเศรษฐกิจไทยในปี 2564
.
แม้เศรษฐกิจปีหน้ากำลังฟื้นตัวได้ดีขึ้นผ่านเครื่องจักรสำคัญคือภาคการส่งออกสินค้า แต่ปัจจัยเสี่ยงของปีหน้าก็คือตัวแปรสำคัญที่กระทบภาคการค้าระหว่างประเทศ นั่นคือ ค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ และอาจแข็งค่าเทียบประเทศคู่ค้าสำคัญรายอื่นๆ ของไทยด้วย โดยเงินบาทที่แข็งค่ามาจากสองปัจจัย
.
ปัจจัยแรก เกิดจากการเกินดุลการค้าที่มากขึ้นตามการส่งออก ขณะที่การนำเข้า โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรอาจยังไม่เติบโตมากนักตามการลงทุนภาคเอกชนที่ยังฟื้นตัวช้า และปัจจัยที่สอง คือ กระแสเงินไหลเข้าในตลาดทุนที่มากขึ้น ทั้งจากการคลายความกังวลในวิกฤติเศรษฐกิจ จากสภาพคล่องที่ล้นระบบตลาดการเงินในประเทศสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศ ส่งผลให้เงินลงทุนเก็งกำไรจากต่างชาติเข้ามาในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทย ซึ่งเงินร้อน หรือเงินลงทุนหวังผลกำไรระยะสั้นจากสภาพคล่องที่ล้นเหล่านี้ ประกอบกับปัจจัยพื้นฐานของไทยที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง น่าจะมีส่วนสำคัญให้เงินบาทแข็งค่าได้เร็วในปีหน้า
.
โดยมองว่าเงินบาทที่แข็งค่าได้ถึง 6% จากปลายปีนี้หรือไปแตะระดับ 28.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ปลายปีหน้านี้ อาจมีผลให้การส่งออกสินค้าเติบโตได้ช้าลงกว่ากรณีที่เงินบาทไม่ได้แข็งเช่นที่คาดนี้ แม้การส่งออกรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ยังเป็นบวกตามความต้องการที่ดีขึ้นในตลาดโลก บาทที่แข็งค่าเร็วและแรงอาจดูเป็นไปได้ยากแต่หากดูภาพการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่แข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ หลังวิกฤติการเงินโลกในปี 51 ช่วงเฟดทำ QE ต่อเนื่องและหลังตลาดคลายความกังวลในสภาพคล่องรูปดอลลาร์สหรัฐฯ เราอาจได้เห็นเงินร้อนท่วมตลาดเกิดใหม่อีกรอบ ผู้ส่งออกอาจลองหาผลิตภัณฑ์ทางการเงินช่วยป้องกันความเสี่ยงจากบาทแข็งและหาทางถือเงินดอลลาร์สหรัฐฯไว้ใช้จ่ายมากกว่าแลกกลับเป็นเงินบาทเพื่อลดต้นทุนจากการแลกเปลี่ยนเงิน
.
ดังนั้นคงต้องฝากความหวังกับทั้งกระทรวงการคลังและธปท.ในการสกัดเงินร้อน หรือหามาตรการเร่งให้เกิดความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อไปลงทุนต่างประเทศ เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาท แต่เชื่อว่ามาตรการเหล่านี้คงยากที่จะต้านทานกระแสเงินร้อนได้
.