ซีไอเอ็มบี ไทยหั่นจีดีพีไทยปี 66 เหลือโต 3.3% จากเดิมคาดจะขยายตัว 3.4% เหตุส่งออกชะลอ

271
0
Share:
ซีไอเอ็มบี ไทยหั่นจีดีพีไทย เศรษฐกิจไทย ปี 66 เหลือโต 3.3% จากเดิมคาดจะขยายตัว 3.4% เหตุส่งออกชะลอ

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 66 ใหม่ จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 3.4% เป็น 3.3% หลังจากที่เศรษฐกิจไทยปีก่อนขยายตัวต่ำเพียง 2.6% แม้ปีนี้น่าจะสามารถเร่งขึ้นมาได้จากการท่องเที่ยวแต่ก็ต้องเผชิญความผันผวนจากเศรษฐกิจและการเงินโลกที่กระทบการส่งออก

ส่วนกำลังซื้อในประเทศน่าจะขยายตัวได้ดีตามการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ในกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร อาหารและเครื่องดื่ม ขนส่ง และค้าปลีกค้าส่ง แต่หากเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับกำลังซื้อคนไทยทั่วไป เช่น เสื้อผ้า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ การศึกษาและสุขภาพ อาจเติบโตได้แต่ไม่โดดเด่น และให้รอดูยอดการขายรถยนต์ที่หดตัวในปีก่อนว่าจะฟื้นขึ้นได้มากน้อยเพียงไร

สำนักวิจัยฯ ตั้งข้อสังเกตว่า การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่ำกว่า GDP มาโดยตลอด มาปีนี้น่าจะขยายตัวได้ 3.5% สะท้อนว่าการใช้จ่ายของครัวเรือนจะกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากภาคการท่องเที่ยวที่สนับสนุนภาคบริการ แต่ไม่สามารถคาดหวังมากกับกำลังซื้อระดับล่าง เพราะรายได้ภาคเกษตรที่อ่อนแอ แม้ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นมาบ้าง ช่วยพยุงกำลังซื้อได้ดีขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้า แต่จากปัญหาเงินเฟ้อ หนี้ครัวเรือนสูงที่ยิ่งได้รับแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น น่าจะกระทบกำลังซื้อต่อในช่วงไตรมาสสอง

แม้ว่าในช่วงไตรมาส 2/66 อาจมีแรงส่งจากกิจกรรมการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พ.ค. 66 โดยเฉพาะเงินที่จะสะพัดเข้าชุมชนต่างจังหวัด เข้าถึงกลุ่มแรงงานรายได้น้อย ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น แต่ไม่มากพอจะสร้างงานและรายได้อย่างยั่งยืน เพียงประคองตัวในช่วงรอจำนวนนักท่องเที่ยวมากขึ้นและกระจายไปในหลากหลายพื้นที่

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงจะมาจากการล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลกระทบงบประมาณรายจ่ายที่นำมาใช้ไม่ทันภายในวันที่ 1 ต.ค. 66 รวมถึงการลงทุนภาครัฐเติบโตต่ำกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า และเอกชนอาจเลื่อนการลงทุนการก่อสร้างโครงการใหม่

ภาคการส่งออกมีแนวโน้มอ่อนแอกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าจะหดตัวราว 2% ในรูปดอลลาร์สหรัฐ หลักๆมาจากวัฎจักรระยะสั้นของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นขาลง ขณะที่กำลังซื้อสินค้ากลุ่มอื่นๆ เช่นยานยนต์และชิ้นส่วน กลุ่มเกษตรแปรรูปและอาหารแปรรูปก็ยังอ่อนแอ แต่ไทยน่าจะยังคงเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจากรายได้จากการท่องเที่ยวที่ดีกว่าคาด คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะสูงถึง 28 ล้านคน

สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สำนักวิจัยฯ มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งไปสู่ระดับ 2% ต่อปี ในรอบการประชุมวันที่ 31 พ.ค. 66 เนื่องจากในการประชุมรอบเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางกนง.มีมุมมองห่วงปัญหาเงินเฟ้อ เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่ปัญหาเสถียรภาพการเงินของไทยยังไม่ได้รับผลกระทบหลังธนาคารบางแห่งในสหรัฐและยุโรปมีปัญหา ขณะที่เงินบาทจะแกว่งตัวในกรอบ 33.50-34.50 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงไตรมาส 2/66 ตามความไม่แน่นอนของราคาน้ำมันและการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ แต่คาดว่าเสถียรภาพตลาดเงินตลาดทุนน่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะหลังมีความชัดเจนในการคงอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ และรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยที่จะมากขึ้น โดยเรามองเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าในระดับ 33.00 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงปลายปีนี้