ซ้ำเข้าไปอีก! ศูนย์วิจัยกรุงไทยชี้น้ำท่วมปี 64 ทำให้นาข้าวเสียหายถึง 5.4 พันล้านบาท

453
0
Share:
ซ้ำเข้าไปอีก! ศูนย์วิจัยกรุงไทยชี้ น้ำท่วม ปี 64 ทำให้นาข้าวเสียหายถึง 5.4 พันล้านบาท

Krungthai COMPASS ประเมินผลผลิตข้าวที่เสียหายจริงจะอยู่ที่ราว 1.6 ล้านไร่ คิดเป็นเพียง 2.3% ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ และคิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 5.4 พันล้านบาท โดยผลผลิตข้าวที่ได้รับเสียหายส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัด นครราชสีมา นครสวรรค์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ และพิจิตร เนื่องจากมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ซึ่งเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 64 ได้ส่งผลเสียหายน้อยกว่าเมื่อเทียบกับมหาอุทกภัยในปี 2011 ที่มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ได้รับความเสียหายจริงอยู่ที่ 11.2 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมถึง 43.6 พันล้านบาท ขณะที่ภัยแล้งในปี 2015 มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ได้รับความเสียหายจริงอยู่ที่ 2.9 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 10.5 พันล้านบาท

ผลจากน้ำท่วมครั้งนี้ ทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นในระดับที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก จึงคาดว่าในปี 2022 ผลผลิตข้าวเปลือกจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 32 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 6.3% แต่การส่งออกยังเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงด้านราคา เนื่องจากปริมาณผลผลิตข้าวของประเทศคู่แข่งอย่าง เวียดนาม และอินเดีย จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะกดดันให้ราคาข้าวในประเทศมีแนวโน้มลดลง

ซึ่งท่ามกลางปัญหาและความท้าทายต่าง ๆ ที่เกษตรกรรวมถึงผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานธุรกิจข้าวต้องเผชิญอยู่ โดยเฉพาะปัญหาในด้านการผลิตและการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินจำนวนมากของโรงสี อีกทั้งการบริโภคในประเทศก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น หนำซ้ำยังมีแนวโน้มลดลงตามกระแสรักษ์สุขภาพอีกด้วย

ขณะที่การส่งออกข้าวก็ยากขึ้น เนื่องจากราคาส่งออกข้าวไทยเฉลี่ยยังสูงกว่าคู่แข่งและมีแนวโน้มที่จะถูกตีตลาดจากข้าวพื้นนุ่มของเวียดนามที่เป็นที่นิยมมากขึ้นในตลาดโลก จึงมีความกังวลและเกิดคำถามว่าปัญหาอุทกภัยในปีนี้ที่ขยายวงไปในหลายพื้นที่ของประเทศ ทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง จะมาซ้ำเติมธุรกิจข้าวอีกหรือไม่ ผลกระทบจะมีมากน้อยเพียงใด รวมถึงพื้นที่ไหนและจังหวัดใดที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด