“ดร.ณรงค์ชัย” ชี้ประเทศไทยมีตังค์ แต่รัฐบาลไม่มีตังค์ ฐานะการเงินการคลังรัฐบาลไม่ดี

341
0
Share:
ดร.ณรงค์ชัย ชี้ประเทศไทยมีตังค์ แต่รัฐบาลไม่มีตังค์ ฐานะการเงิน ฐานะการคลัง รัฐบาลไม่ดี

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ประเทศไทยมีตังค์ แต่รัฐบาลไม่มีตังค์ ฐานะการคลังไม่ดี ดังนั้นรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาจะต้องเข้าไปช่วยเหลือหลายด้าน เช่น ราคาพลังงาน ซึ่งรัฐบาลชุดใหม่คงช่วยไม่ได้มาก เรื่องค่าแรงก็อาจเจรจากันแล้วก็ขยับขึ้นบ้าง

สาเหตุที่ทำให้ภาคการคลังของประเทศไทยมีข้อจำกัดมาจากหนี้สาธารณะสูงจนชนเพดาน แม้จะผ่านกฎหมายให้ขยายเพดานกู้ยืมเงิน หรือหนี้สาธารณะเป็น 70% แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้า สัดส่วนหนี้สาธารณะจะต้องกลับมาที่ 60% ดังนั้น รัฐบาลหาเสียงจะให้อะไรต่างๆ รัฐบาลไม่มีตังค์ให้หรอก เพราะภาระหนี้รัฐบาลสูง

ด้านฐานะการเงินประเทศไทยนั้นถือว่าดี ไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศเกิน 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนหนี้ระยะสั้นมีนิดเดียว ในแง่หนี้ต่างประเทศมีพอสมควร แต่ส่วนใหญ่กลับเป็นหนี้ภาคเอกชน ในขณะที่สภาพคล่องส่วนเกินมีมาก มองอีกด้านก็คือ เหตุผลที่ทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากในไทยต่ำมากนั่นเอง

ดร.ณรงค์ชัย ระบุว่ารัฐบาลชุดใหม่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 เดือน ดังนั้น ปัญหาสำคัญที่สุด คือค่าครองชีพและสินค้าราคาแพง ในปีนี้ 2566 เงินเฟ้อไทยจะปรับขึ้นไม่มากราว 2-3% แต่ถ้ารวมกับปีที่แล้วซึ่งเงินเฟ้อเพิ่มสูงมากถึง 6% นั่นก็คือ เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นไปถึง 8-9% บทสรุปค่าครองชีพอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ในระยะสั้น อยากเห็นรัฐบาลใหม่เร่งรัดการลงทุนโครงการของภาครัฐที่ยังล่าช้าอยู่ ให้แล้วเสร็จและเปิดใช้บริการให้โดยเร็ว

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อไปว่า เศรษฐกิจไทยในระยะยาวที่รัฐบาลชุดใหม่ควรผลักดันมี 5 เรื่องประกอบด้วย

1. ไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจดังกล่าวจะต้องพิจารณาภาพรวมของโลกด้วย ซึ่งขณะนี้ปัญหาใหญ่ของโลก คือความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปัญหาโลกร้อน และความเสี่ยงเรื่องการเมืองโลก เพราะโลกกำลังทะเลาะกัน โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐและจีน ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดทั้งโลก

2. ธนาคารโลกและไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์ ระบุว่า ขณะนี้เอเชียและตะวันออกกลางกำลังมาแรงในเรื่องกำลังทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ปัญหาความขัดแย้งและการสู้รบในตะวันออกกลางลดลงมาก ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสใหม่ๆให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะการเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจระหว่างเอเชีย-ตะวันออกกลาง ทั้งในด้านการเป็นซัพพลายเชน และโลจิสติกส์

3. สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เพื่อรองรับความเสี่ยงต่างๆ ในโลก

4. การผลักดันการลงทุนด้าน IT ระดับชุมชน ซึ่งจะช่วยในเรื่องการศึกษา สุขภาพ และการประกอบอาชีพ เป็นต้น

และ 5. การจัดการปัญหาคอร์รัปชั่น